Dhammakaya FactSheet - ธรรมกาย

Dhammakaya and their wrong teachings!!! -Articles, Interviews & Newsclips -

Name:
Location: Bangkok, Thailand

The reason I've made this blog is because Dhammakaya is a cult, exploting Buddhism concept... Don't fall into their traps! Seek the right path, which is a real Buddha's way... ok? That's my warning.. :-)

Saturday, April 16, 2005

กรณีธรรมกาย โดย พระธรรมปิฎก

กรณีธรรมกาย
โดย พระธรรมปิฎก
--------------------------------
" ขอย้ำว่า คำสอนธรรมกายของมหายาน กับคำสอนธรรมกายของวัดพระธรรมกายนั้น ต่างกันมากมาย ยิ่งกว่าธรรมกายมหายานต่างจากธรรมกายเดิมของพระพุทธเจ้า

เรื่องวิชชาธรรมกายปัจจุบันของสำนักวัดพระธรรมกายนั้น ก็ควรจะกล่าวลงไปตรงๆ ไม่ต้องไปบอกว่า พระพุทธเจ้าค้นพบ หรือทรงสอนไว้แล้วหายไปจนต้องมีการค้นพบใหม่ ก็พูดไปตรงๆ ว่า อาจารย์ของสำนักท่านได้จัดวางของท่าน และได้สอนขึ้นมาในความหมายของท่าน เรื่องก็เท่านั้นเอง เพราะว่าธรรมกายที่ว่านี้ ก็ไม่ได้มีความหมายตรงกับธรรมกายเดิมในพระไตรปิฎก หรือแม้แต่ธรรมกายของมหายาน ที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาในยุคหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปหลายร้อยปี ควรจะมีความแจ่มชัดดังที่กล่าวมาแล้ว "

อ่านเต็มๆ ที่ http://members.tripod.com/~b2b2/tmk/

กรณีธรรมกาย: สัมภาษณ์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

"...หลักของพระพุทธเจ้า เป็นหลักจริงๆ ไม่จำเป็นต้องตีความแล้ว ถ้าใช้คำว่าตีความ ท่านก็ตีความไว้ให้เสร็จแล้ว เราไม่จำเป็นต้องตีความอีก

พระนิพพานคืออะไร เป็นอัตตาหรืออนัตตา นี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาตีความแล้วนะครับ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เรียบร้อยแล้วว่าพระนิพพานเป็นอนัตตา
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าคุณเชื่อไหม เสรีภาพให้มาใช้ตรงนี้ คุณมีเสรีภาพจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าคุณไม่เชื่อพระพุทธเจ้าว่าอธิบายอย่างนี้ ตีความอย่างนี้ ผมไม่เชื่อ คุณก็มีสิทธิ์ที่จะไปไหนก็ได้ ถ้าคุณไม่เชื่อคุณจะมาอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ต่างหาก เอาความเห็นของคุณไปใส่นี่ กลายเป็นว่าคุณกำลังจะบิดเบือน กำลังจะทำลายพระพุทธศาสนา

เสรีภาพเอามาอ้างกันบ่อย อ้างเสรีภาพในการนับถือศาสนา ใครจะนับถือนิกายไหนก็ได้ แต่ลืมนึกถึงบริบทของสังคมในเมืองไทย

อย่างเช่นชอบอ้างเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ... ผมขอพูดเรื่องนี้ก่อน ที่บอกว่าเรามีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาและปฏิบัติตามลัทธิประเพณีทางศาสนาที่ตนเชื่อถือ เช่นจะเข้าชื่อกันเพื่อแสดงสิทธิเสรีภาพที่จะสอนตามที่ตนต้องการ ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาที่ตนต้องการ เช่นสอนว่านิพพานเป็นอัตตา ทำพิธีนำข้าวไปถวายพระ-พุทธเจ้าบนนิพพาน อ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นี่เข้าใจผิด กรณีธัมมชโยนี่มีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา ใช่แกมีเสรีภาพในการเลือก แล้วแกก็เลือกแล้วด้วย คือเลือกเป็นพระในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เลือกเรียบร้อย เป็นพระในพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็จะต้องปฏิบัติตามประเพณีพิธีกรรมของเถรวาท หลักคำสอนของเถรวาท นี่คือหลัก ทีนี้แกเลือกแล้วแกจะมาอ้างสิทธิเสรีภาพในการเลือกอะไรอีก

แต่ถ้าจะเลือกใหม่อีก ก็มีสิทธิเลือก เช่นเลือกเป็นพุทธฝ่ายมหายาน สมมุตินะครับ เลือกเป็นพุทธฝ่ายมหายาน ไม่เอาแล้วเป็นเถรวาทเรื่องมาก จะมาเลือกเป็นพุทธฝ่ายมหายานก็ย่อมได้ สมมุติว่าธัมมชโยเลือกจริง ธัมมชโยก็ต้องไปอยู่กับพระจีน ไปอยู่กับพระญวน เพราะจะเกี่ยวโยงกับธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมไทย มีกฎต่างๆ กฎกระทรวง กฎหมาย ของไทยว่า มหายานในเมืองไทยที่รับรองเป็นทางการมี ๒ ฝ่าย คือฝ่ายญวน และฝ่ายจีน ไต้หวันยังไม่รับรอง เพราะฉะนั้น คุณมีสิทธิเลือกตามรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณเลือกเป็นมหายาน คุณก็ไปอยู่วัดเล่งเน่ยยี่ วัดโพธิ์แมน หรือไม่ก็ไปอยู่กับพระญวน อันนี้ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ...."

"....ปัญหาของธรรมกาย (ธรรมกายทุกสำนัก มิใช่เฉพาะสำนักของธัมมชโย ที่ยกธรรมกายคลองสามขึ้นมาพูดเพราะว่าเป็นต้นเหตุ) มีอยู่ ๒ ประเด็น

๑. ผิดต่อพระพุทธศาสนา อันนี้พูดอย่างไรๆ ก็ไม่มีใครเข้าใจนอกจากคนที่ศึกษาพระพุทธศาสนา คนข้างนอกไม่เข้าใจพระเองถ้าไม่ศึกษาพระพุทธศาสนาก็ไม่เข้าใจ นักวิชาการพุทธศาสนาจะต้องรู้ประเด็นนี้ คือผิดต่อหลักการของพระพุทธศาสนา

๒.ปฏิบัติผิดพระวินัย ประเด็นที่พูดกันวุ่นวาย ยืดยาว ปัจจุบันนี้เป็นประเด็นที่สอง ผมเห็นว่าเป็นประเด็นเล็กนิดเดียว คือว่า ธัมมชโยกับลูกศิษย์บางองค์ปฏิบัติผิดพระวินัย ที่เห็นเด่นชัดนั้นก็คือ ปาราชิกข้อที่ ๒ ฉ้อโกงทรัพย์ เอาเงินของวัดไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง อีกข้อหนึ่งซึ่งพิสูจน์กันยาก แต่ถ้าพิสูจน์จริงๆ ก็พิสูจน์ได้ คือการอวดอุตริมนุสธรรม การอวดอ้างว่าตนสามารถมีอิทธิปาฏิหาริย์อะไรต่างๆ ที่ตัวทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ตัวไม่มีในตัวเอง เช่นว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือบันดาลให้ภาพหลวงพ่อสดเหาะอยู่กลางอากาศอะไรพวกนี้ หรือไม่ก็อ้างพระสิริราชธาตุมีอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ เทวดารักษาไว้ตั้งสองร้อยล้านปี เหล่านี้พิสูจน์ได้ ถ้าพิสูจน์ได้ก็เข้าข่าย ๑.อวดอุตริมนุสธรรม ๒.หลอกลวงประชาชน

อย่างสิริราชธาตุ จริงๆ แล้วก็คือ resin หลักฐานการสั่งของเข้ามาเมืองไทยเขามี สั่งอะไรมา ราคาเท่าไร สั่งมาเมื่อใด สามารถตรวจสอบได้ resin ไม่ใช่หินสองร้อยล้านปี สามารถพิสูจน์กันได้เดี๋ยวนี้ ฉะนั้นความผิดของแกถ้าจะมีก็มีอยู่ ๒ ประเด็นคือ อทินนาทาน กับอุตริมนุสธรรม แต่ว่าเป็นเรื่องเล็ก

ถามว่าทำไมถึงเป็นเรื่องเล็ก ตอบว่าเพราะไม่ใช่ขุดรากถอนโคนพระพุทธศาสนา เป็นเพียงการที่พระภิกษุรูปหนึ่งประพฤติปฏิบัติผิด ต่อพระธรรมวินัย เหมือนตำรวจทำผิดวินัยของตำรวจ อาจจะถูกสั่งพักหรืออาจจะถูกไล่ออก ก็เป็นเรื่องของบุคคลเท่านั้นเอง แต่ เรื่องใหญ่ คือเรื่องหลักการสอนของธรรมกาย การอ้างว่าธรรมกายมีในพระไตรปิฎกก็ดี การสอนวิธีเข้าถึงพระนิพพานโดยผ่านการเดินกายผ่านฐานต่างๆ เดินดวงแก้วผ่านฐานต่างๆ ของกาย แล้วก็สามารถทำให้เกิดนิมิตพระพุทธรูปหน้าตักกว้างเท่านั้นเท่านี้ สูงขึ้นกว่ากันตามลำดับ คือพระโสดาบัน ๕ วา พระสกทาคามี ๑๐ วา พระอนาคามี ๑๕ วา พระอรหันต์ ๒๐ วา ก็ดี การอ้างว่าการเห็นพระพุทธรูปนั้นคือการบรรลุพระนิพพาน และผู้บรรลุพระนิพพานสามารถถูกดูดเข้าไปสู่อายตนะนิพพาน ซึ่งอ้างกันว่าเป็นสถานที่สถิตของพระพุทธเจ้าในอดีตและพระอรหันต์ทั้งหลาย สามารถวัดความกว้างความยาวได้ คือเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๔๑,๓๓๐,๐๐๐ โยชน์ เส้นขอบของพระ-นิพพาน ๑๕,๑๒๐,๐๐๐ โยชน์ ๒ ขอบรวมเป็น ๓๐,๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ การอ้างพระนิพพานว่าเป็นสถานที่ การอ้างว่าพระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานแล้วท่านไปอยู่ตรงนั้น การอ้างว่าพระนิพพานบรรลุได้โดยการนั่งสมาธิจนทำตนให้เป็นพระพุทธรูป ไม่ใช่วิถีของพระพุทธศาสนา ไม่ว่านิกายไหน พุทธศาสนาถือว่าการบรรลุมรรคผลนิพพาน คือ การลด ละกิเลสได้ จนกระทั่งหมดกิเลสได้โดยสิ้นเชิง อย่างนี้เป็นการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องใหญ่..."

"...อาจารย์สรุปว่าธรรมกายไม่ใช่พุทธ

ฝรั่งมาสัมภาษณ์ผม ผมบอกเลยว่าไม่ใช่พุทธศาสนา ในความหมายที่แท้จริงคือ โดยรูปแบบเขาเป็นพระในพุทธศาสนา และเป็นเถรวาทด้วย แต่จริงๆ เขาไม่ใช่พุทธ เพราะว่าเขาไม่แสดงคำสอนของพุทธศาสนา เพียงไปหยิบเอาคำสอนของพุทธศาสนาบางจุด เพื่อสร้างความร่ำรวย ความยิ่งใหญ่ให้แก่ตัว ถ้าเราถอยหลังมาพิจารณาสักนิด... เราจะเห็นว่าการสอน แม้แต่หลักบุญหลักทาน ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่สังคมไทยสอนกันมาตามหลักพุทธศาสนานี่ ก็สอน “ให้เพื่อการสงเคราะห์ ให้เพื่อช่วยเหลือสังคม” ใครมีก็ช่วยเหลือเจือจานคนอื่นตามกำลังสามารถ ไม่เคยมีคำสอนใดในสังคมไทยหรือในพุทธศาสนาที่สอนว่า “มึงมีเท่าไรมึงทุ่มให้หมด” ไอ้มีเท่าไรทุ่มให้หมดนี่นะฮะ ถึงกับสร้าง slogan ว่า “ขายบ้านขายรถ ทุ่มสุดฤทธิ์ ปิดเจดีย์” ไม่มีก็ให้ไปขอยืมเขามา ให้ทำมากๆ ท่านก็จะได้มากๆ หมายถึงว่าได้สิ่งตอบแทนกลับมา เช่นให้ไป ๑,๐๐๐ บาท คุณจะได้รับตอบแทนกลับมา ๓,๐๐๐ บาท ๓ เท่าตัว… ไม่มีใครสอนอย่างนี้

ว่ากันจริงๆ นะ ถ้าถอยหลังมานั่งคิดสักนิด โอ้โห! นี่มันเป็นลัทธิขูดรีด “มึงจะชิบหายช่างมึง แต่ว่าต้องเอาเงินมาให้กูให้ได้ ให้กูได้ร่ำได้รวย” เอาเงินมาแล้วเอาไปทำอะไร สังคมก็เห็นอยู่แล้วว่าเงินทองเอาไปทำอีลุ่ยฉุยแฉก จ่ายให้สีกาคนละ ๑๐๐ ล้าน ๒๐๐ ล้าน เอาไปทำธุรกิจ ก็เห็นๆ กันอยู่ ทำไมคนถึงมองไม่เห็น ก็เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของผ้าเหลือง นี่ถ้าสมมติว่าเป็นคุณ นุ่งกางเกง ถ้าคุณทำอย่างนั้นคุณก็โดนถีบ โดนกระทืบตายแล้วใช่ไหม อันนี้เห็นได้ชัดๆ ไม่ใช่พุทธศาสนา คือเราเกรงใจ พูดกันแบบเกรงใจ ผมไม่เกรงใจหรอกแบบนี้...

พวกนี้สำคัญผิดหรือเจตนาฉ้อฉล

เจตนาฉ้อฉลๆ

หมายถึงรู้มาตั้งแต่ต้น

รู้ รู้มาตั้งแต่ต้น ตั้งใจมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถ้าให้ความเป็นธรรมสักเล็กน้อย หลวงพ่อสดนี่ ท่านอาจจะเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ ก็ได้ ว่าพระนิพพานของท่านเป็นอย่างนั้น ท่านนั่งเห็นนิมิต ท่านเห็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ได้ เพราะสมถะนั้นสามารถที่จะทำให้เกิด delusion เกิดความเข้าใจผิดได้ จินตนาการไปได้ เพราะนิมิตที่เห็นนั้น แต่ทีนี้หลวงพ่อสดไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือหากินนะจะบอกให้ หลวงพ่อสดท่านปฏิบัติผิด ท่านก็เข้าใจผิดว่านิมิตนั้นเป็นจุดสุดท้ายเป็นจุดสำเร็จ

และถ้าดูประวัติของหลวงพ่อสดตั้งแต่ต้น หลังจากนั้นหลวงพ่อสดมาปฏิบัติวิปัสสนากับอาจารย์ใหญ่วิปัสสนาธุระที่วัดมหาธาตุ (ท่านเจ้าคุณโชดก) ได้มอบรูปให้สำนักนั้น เขียนบอกยอมรับว่าวิธีปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ตามที่สอนในสำนักวัดมหาธาตุนั้นถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ก็เขาเล่าลือกันมาตั้งนานแล้ว เขาไม่กล้าพูดกลัวจะเป็นการ bluff กัน ถ้าสมมติเป็นจริงดังนั้นตามหลักฐานที่มีให้เห็นและตามที่เล่าๆ กันมา ผู้ที่เล่าให้ฟังก็มีชีวิตอยู่ แสดงว่าหลวงพ่อสดท่านไปไหนต่อไหนแล้ว หมายความว่าท่านเคยติดตันอยู่ แล้วท่านก็ทะลุกำแพงไปได้ ไปถึงไหนนี่เราไม่ทราบ

แต่ว่าลูกศิษย์ลูกหาเอามรดกที่ท่านทิ้งไว้มาหากิน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าธรรมกายมี ๒ กรุ๊ป กรุ๊ปหนึ่งคลองสาม กรุ๊ปหนึ่งดำเนินสะดวก ดำเนินสะดวกกับคลองสามนี่เป็นลูกศิษย์รุ่นเดียวกัน ทำงานมาด้วยกัน อยู่ที่เดียวกัน แล้วทะเลาะกัน เวลาทะเลาะกันก็วิ่งมาหาผม แม้กระทั่งที่ถูกไล่ ถูกตามล่า ตั้งแต่พระอดิศักดิ์ก็ดี พระชัยเจริญก็ดี พระเลอศักดิ์ก็ดี รุ่นแรกหนีตายก็มาหาผม ทำไมข้อมูลต่างๆ มาอยู่ที่ผม... ก็เพราะท่านเหล่านี้มารายงานให้ทราบ ผมรู้ก่อนใครทั้งนั้นเรื่องอะไรต่ออะไรต่างๆ

เพราะฉะนั้นสองกลุ่มนี้มีปัญหาหลักคือบิดเบือนคำสอนของพุทธศาสนา และบิดเบือนทั้งสองกลุ่ม จำได้ไหม การเถียงกันพระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานี่ ใน หนังสือ สมาธิ นิตยสารที่ออกในช่วงนั้น พวกธรรมกาย ไม่ว่าดำเนินสะดวก ไม่ว่าคลองสาม ยืนยันว่าพระนิพพานเป็นอัตตา จากนั้นท่านเจ้าคุณ (พระธรรมปิฎก) จึงเสนอหลักฐานของท่านออกมา และกลายมาเป็นหนังสือ “นิพพานอนัตตา” เกิดถกเถียงเรื่องนี้กันมาก่อน ท่านชี้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนนิพพานเป็นอัตตา นั่นแหละคือวิวาทะที่เกิดขึ้นมาก่อนเกิดเหตุ พอเกิดเหตุธรรมกายคลองสามเข้า ทางด้านดำเนินสะดวกก็สงบ สงวนท่าทีอยู่ เพราะว่ามีกรณีสมภารและรองสมภารวัดพระธรรมกายผิดพระวินัยอยู่ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องหลักการของพระพุทธศาสนา หรือพระนิพพานอย่างเดียว แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือประเด็นเรื่องพระนิพพานเป็นอัตตา ทั้งสองสำนักสอนเหมือนกัน ยืนยันเหมือนกัน..."

"...แล้วในฝ่ายของคณะสงฆ์

ในฝ่ายคณะสงฆ์นี่ จะกราบเรียนให้ทราบว่า การที่เราจะพูดว่าคอรัปชั่น การที่เราจะพูดว่าเป็นการติดสินบน นี่เราก็บอกไม่ควรพูด มันแรงไป เพราะจริงๆ ที่ท่านทำน่ะเป็นการเอื้ออาทรอุปการะซึ่งกันและกัน แต่ถ้าพูดโดย ultimate reality โดยปรมัตถ์แล้วนี่ ก็คือการคอรัปชั่น ก็คือการติดสินบนนั่นแหละ ผมจะยกตัวอย่าง... ต้องเข้าใจนะ พวกนี้หรือใครก็ตามที่เขารู้ตัวว่าเขาทำไม่ถูกต้องตามหลัก เขาจะต้องสร้างภูมิคุ้มกัน สมมติว่าถ้าเขาคิดมาตั้งแต่ต้นว่าเขาจะทำตรงนี้ให้เสร็จ มาทำตรงนี้ก็เลี่ยงกฎหมายเลี่ยงพระธรรมวินัย เลี่ยงอะไรเยอะ เขารู้ แต่ถ้าไม่ทำรายได้จะไม่มี คนจะไม่ขึ้น คนจะไม่นับถือ เขารู้มาตั้งแต่ต้นแล้วก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร รู้ว่าต้องเข้าหาใคร พวกนี้จริงๆ แล้วเป็นพระใต้บังคับบัญชาของพระเถระผู้ใหญ่ที่ว่าง่ายมาก ว่านอนสอนง่าย และเข้าหาพระผู้หลักผู้ใหญ่ อ่อนน้อมถ่อมตน มี link กัน มีความสัมพันธ์กันระหว่างพระผู้ใหญ่กับตัวเองอย่างค่อนข้างสม่ำเสมอและมานานด้วย รู้จักคุ้นเคยและก็ได้รับความเมตตาอุปถัมภ์จากท่านเหล่านั้นมาก เพราะฉะนั้นทางฝ่ายเหล่านี้การอุปถัมภ์ทางปัจจัยเป็นของธรรมดามาก

พระผู้ใหญ่ท่านไม่เท่าทันหรือ ระหว่างเรื่องการเคารพกับความอ่อนน้อมเพื่อหวังประโยชน์ หรือระหว่างการที่สนับสนุนปัจจัยกับการติดสินบนท่าน

อาจจะไม่เท่าทัน หรือรู้เหมือนกันแต่ว่าต้องแกล้งไม่รู้ เพราะว่าการที่แกล้งไม่รู้ทำให้ท่าน “ได้”... พูดง่ายๆ ทำให้ท่านรวยขึ้น ได้มีปัจจัยความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรถยี่ห้อดีขึ้น หรือว่าสร้างอะไรท่านก็สามารถสร้างได้รวดเร็วขึ้น ยกตัวอย่าง วัดที่มีชื่อแปลว่า “ยานพาหนะคือเรือ” ก็แล้วกัน หรูหรามหาศาลมาก ไปดูกำแพงวัดสร้างอย่างสวยงาม วัดนี้เอาเงินมาจากไหนเยอะแยะ ... ก็จากระบบการเอื้ออุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นท่านเหล่านี้เขาเตรียมมาแล้ว ตัวเขานี่ เขาเตรียมทุกอย่าง หาเกราะป้องกันตัว อาศัยวัฒนธรรมไทยคือการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ระหว่างผู้อาวุโสกับด้อยอาวุโส อะไรต่างๆ โดยพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นไปด้วยความราบรื่น เป็นความราบรื่น จนกระทั่งว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นพรรคพวกเขาสามารถที่จะกระโดดเข้ามาป้องกันได้โดยที่ไม่คิดถึงอะไรทั้งนั้น แม้แต่กระแสสังคม สายตาของวิญญูชนทั้งหลาย ทำไม่สนใจทั้งนั้น

ถ้าดู video เวลาเขาออกข่าวก็จะเห็นว่า เวลางานสำคัญๆ ที่ผ่านๆ มา มีพระผู้ใหญ่องค์ใดบ้างที่ไปที่นั่นเป็นประจำ ไปเปิดอะไรต่ออะไรต่างๆ จะเห็นภาพอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะบอกได้ทันทีว่า... ที่จริงแล้วถ้าดูด้วยความพินิจพิเคราะห์ เราจำแนกได้ว่า องค์ใดบ้าง คือพระผู้ใหญ่ที่อุปถัมภ์กันอยู่ ถ้าจะทำงานอะไรใหญ่ๆ เขาจะนิมนต์พระนี่เขาจะนิมนต์พระองค์ใด นิมนต์พระที่ต้องให้คุณให้โทษแก่เขาได้ มาทำอะไร มาเทศน์ นิมนต์มาเทศน์นี่นะครับ พอเทศน์จบ ก็ถวายกัณฑ์เทศน์ ถวายกัณฑ์เทศน์อย่างเก่งก็พัน ห้าพัน ห้าพันนี่ถือว่าอย่างเก่งแล้วนะฮะ ถวายกันถึงสามแสน สี่แสน ห้าแสน ก็มี ครึ่งล้านนี่ จะทำใจได้ไหมว่าเป็นกัณฑ์เทศน์ ท่านก็พยายามคิดว่านี่กัณฑ์เทศน์ กัณฑ์เทศน์นะ...ไม่มีอะไร เขาศรัทธา เขาเลื่อมใสมากก็ถวาย แต่ในส่วนลึกๆ จริงๆ ท่านผู้นั้นที่รับกัณฑ์เทศน์ไป ท่านย่อมจะรู้ว่าเป็นอะไร

แล้วหิริโอตตัปปะของท่านไปไหน

หิริโอตตัปปะก็อยู่นั่นแหละ แต่ไม่สำแดงตัว (หัวเราะ) ปัจจัยมันมากกว่ามันก็สำแดงออกมาไม่ได้ ถามว่าผิดไหม เป็นการติดสินบนไหม เป็นการคอรัปชั่นไหม ท่านก็ตอบ “มันไม่น่าจะผิดนะ” เป็นการติดกัณฑ์เทศน์ที่แฝงมา การให้สินบนโดยวิธีนี้อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนามาเคลือบบังนี่ หากบอกว่ามันเลวร้าย... แล้วสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่อะไร มันนำไปสู่... ท้ายที่สุดแล้วท่านก็จะตกเป็นทาสของผู้ที่ให้ “ผู้รับตกเป็นทาสของผู้ให้” เขาต้องการอะไรก็ต้องทำให้ ธัมมชโย หรือ ทัตตชีโว นักธรรมตรีนะไม่ได้มีความรู้พระธรรมวินัยมากมายอะไรนักหนา แต่เวลาสอนไม่เคยสอนเรื่องอื่นเลยสอนแต่การให้ทาน การสร้างบารมี ธรรมลึกซึ้งมันจะไปรู้อะไร แค่นักธรรมตรี ใช่ไหม พระ ก. พระ ข. จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมณศักดิ์อะไร ระดับนักธรรมตรีอย่างเก่งก็พระครู ต้องไต่เต้าไปตามลำดับ ไอ้นี่ ทีเดียวพรวดเป็นเจ้าคุณเลย เราก็จะเห็นอิทธิพลของปัจจัย อิทธิพลของอะไรต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง พรวดจากพระครูเป็นเจ้าคุณ แล้วพักเดียวได้เป็นชั้นราชแล้ว

เราก็จะเห็นได้ชัดว่า ในวงการพระท่านก็เกื้อกูลกัน ทีนี้บังเอิญว่าผู้ที่ได้รับการเกื้อกูลก็เป็นเจ้าคณะปกครองมีอำนาจในการพิจารณาความผิดความถูก มีอำนาจชี้ขาดว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง พอเกิดเหตุซึ่งจำเป็นจะต้องชี้ ก็น่าเห็นใจท่านนะ ท่านจะชี้อย่างไร ถ้าเป็นเราก็แย่เหมือนกัน ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราเห็นใจท่าน ถามว่าทำไม ดูตัวอย่างเช่นเหตุการณ์เกิดกรณีถูกฟ้องร้องโดยฆราวาส ซึ่งก็ตามกฎนิคหกรรมว่ามีสิทธิ์ฟ้องได้ คุณมานพ (พลไพรินทร์ ผู้ยื่นฟ้องธัมมชโย และทัตตชีโว) ลืมเขียนคำว่านับถือศาสนาพุทธเท่านั้น ก็ปัดทิ้งแล้วบอกว่าคุณสมบัติไม่ครบ ที่จริงแล้วแค่บอกว่าคุณ... เอ่อนี่ลืมเขียนนี่ คุณนับถือศาสนาอะไรเขียนลงไปสิ ก็แค่นั้น... แก้ตรงนั้นก็ได้ แต่นี่หาเหตุว่าไม่ได้แล้ว ต้องยืนยัน ต้องเอาหลักฐานมายืนยันว่านี่เป็นพุทธแท้ๆ เคยบวชมา ถึงได้ยอม พอยอมแล้ว ก็น่าจะนำสู่กระบวนพิจารณาได้ทันที แต่ก็หาทางถ่วง บังเอิญไปเจอช่องโหว่ ตอนว่าด้วยการตรวจคุณสมบัติของโจทก์ มีเฉพาะข้อ ก. คือคุณสมบัติของโจทก์ที่เป็นพระ โจทก์ที่เป็นฆราวาสไม่เห็นบอกให้ตรวจคุณสมบัติ เมื่อไม่บอกให้ตรวจคุณสมบัติก็แสดงว่าฆราวาสไม่มีสิทธิ์ฟ้อง แนะนำให้ฝ่ายโน้นทำหนังสือแย้งไปว่าฆราวาสไม่มีสิทธิ์ฟ้องได้ พอฝ่ายโน้นทำหนังสือแย้งไปถึงเจ้าคณะภาค ไม่แย้งไปที่เจ้าคณะจังหวัดด้วย แย้งไปที่คณะภาคเสร็จแล้ว เจ้าคณะจังหวัดก็ไม่รับพิจารณาเรื่องนี้เพราะถือว่าเขากำลังอุทธรณ์ เขากำลังแย้งอยู่

เสร็จแล้วพอสังคม force โจทก์ก็รุกเร้าหนักขึ้น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ก็เลยไปประชุมกัน ประชุมกันตัดสินว่าฆราวาสไม่มีสิทธิ์ฟ้อง ทางกระทรวงศึกษาธิการโดยคณะรัฐมนตรีบอกตรงนี้ต้องให้ชัดเจน ก็เสนอให้มหาเถรสมาคมพิจารณา มหาเถรสมาคมก็พิจารณามาบอกว่าฆราวาสฟ้องได้ แล้วก็ให้เจ้าคณะภาคสั่งการให้เจ้าคณะจังหวัดดำเนินการตามขั้นตอน เจ้าคณะจังหวัดก็บอกว่า มติว่าฆราวาสฟ้องไม่ได้ มันมีมาก่อนมติมหาเถรสมาคม เพราะฉะนั้นตอนนี้เมื่อเจ้าคณะภาคยังไม่ได้สั่งการมาว่าอย่างไร ผมก็ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นว่ามติของ มส. ไม่มีผลอะไร เพราะเชื่อเจ้าคณะภาคมากกว่า

แต่ทีนี้เขาก็นำเรื่องสู่ มส. ใหม่ กระทรวงศึกษาในช่วงหลังนี้ เขาก็พยายามติดตาม บอกว่าเอาอย่างไรกันแน่ ให้ยืนยันมติ ที่ว่าให้ยืนยันว่าฟ้องได้ ให้ยืนยันอีกทีหนึ่ง เสร็จแล้วพอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมก็เรียกเจ้าคณะภาคไปในฐานะที่เป็นกรรมการมส.ด้วยเหมือนกัน เจ้าคณะภาคก็บอกว่าเรื่องนี้ผมจะรับไปพิจารณาเองโดยรีบด่วน เสร็จแล้วก็ไม่พิจารณา ไม่ทำอะไร จนผลที่สุดเขาก็รบเร้ากันไปอีกจนกระทั่ง มส. สั่งบอกว่าให้รายงานแก่เจ้าคณะหนคือสมเด็จวัดชนะฯ เป็นลายลักษณ์อักษร ทางนี้ก็ทำหนังสือรายงานไปไม่ปะหน้าไปด้วย ท่านเจ้าคุณท่านบอกให้ไปทำมาใหม่ให้ละเอียด ตอนหลังมีใบปะหน้าถูกต้องตามระเบียบ แต่ว่ารายงานก็ยังสั้นอยู่บอกไม่เอา ต้องให้ละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น… ทั้งหมดนี้จะเห็นกลวิธีการถ่วงเวลา ไม่ใช่ไม่รู้แต่แกล้งถ่วงเวลา จนกระทั่งท้ายที่สุดเมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็จำต้องรายละเอียดส่งเจ้าคณะหน

เจ้าคุณเจ้าคณะหน คือสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ท่านอ่านเสร็จแล้วบอก อ้าวอย่างนี้ก็ขัดต่อมติมหาเถรสมาคม ใช่ไหม แล้วท่านยังจะยืนยันอย่างนี้อยู่หรือ ท่านก็บอกว่าให้คิดใหม่ เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหา พอเรื่องเข้าสู่มหาเถรสมาคมก็จะมีปัญหาอีก ท่านก็พูดว่า...ถ้าอย่างนั้นผมก็ตกนรกทั้งเป็น ตกนรกทั้งเป็นหมายความว่าอย่างไร คือไปรับเงินเขา เอ๊ย! รับลาภสักการะเขามาแล้ว ถ้ามาเปลี่ยนมติเสียเดี๋ยวก็จะมาตกนรกหรืออย่างไร อันนี้ก็ไม่ทราบนะฮะ ถ้าพูดอย่างนั้น

ผลที่สุดก็ไม่ยอมเปลี่ยน เจ้าคุณสมเด็จวัดชนะก็บอก ถ้าอย่างนั้นเห็นทีเราจะต้องขัดแย้งกันแล้วนะ ท่านเจ้าคุณวัดชนะท่านก็ยืนยันอ้างพระวินัยสมัยพุทธกาล อ้างเจตนารมณ์ของกฎ มส. กฎนิคหกรรม ว่าฆราวาสฟ้องได้อยู่แล้ว ท่านก็เสนอไปทั้งอย่างนั้นเลย เจ้าคณะภาคบอกไม่ได้ เจ้าคณะหนบอกว่าได้ พอไปถึงประธานในที่ประชุมคือสมเด็จวัดสระเกศ คราวนี้ก็เอาแล้ว ชักจะเปลี่ยนมติ มส.ใหม่แล้ว เอ! เรื่องนี้ถ้าเป็นปัญหาอย่างนี้ตกลงกันไม่ได้ ต้องให้กฤษฎีกาตีความใช่ไหม สมเด็จวัดชนะก็บอกว่าไม่ได้ กฤษฎีกาตีความได้อย่างไร เป็นกฎ มส. มส. เป็นคนออกเองย่อมรู้เจตนารมณ์อยู่เอง ถ้ามีปัญหา มส.ก็ต้องมาวินิจฉัยกันเอง สมเด็จวัดสระเกศท่านก็บอกว่า ต้องให้ผู้รู้กฎหมายเขาตีความอะไรต่ออะไรต่างๆ พยายามจะดึงให้กฤษฎีกาตีความ จุดประสงค์อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เท่าที่นึกได้ก็คือ ต้องการถ่วงเวลา แต่แล้วเจ้าคุณวัดชนะท่านไม่ยอม เท่าที่ทราบ ท่านยกตัวอย่างมามีตัวอย่าง ๒-๓ ครั้งที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนจำไม่ได้หรือ มหาเถรสมาคมก็โยนให้กฤษฎีกาตีความ แล้วกฤษฎีกาเขาตอบมาว่าอย่างไร กฤษฎีกาเขาตอบมาว่า เป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคมจะตัดสินกันเอง พอท่านยกอย่างนี้ปั๊บก็อึ้งกันแล้วก็เลยหาทางใหม่ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องปรึกษานักกฎหมาย ให้รัฐบาลส่งนักกฎหมายมา ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอศึกษาจากนักกฎหมาย นี่เห็นไหมทั้งหมดนี่ไม่ยอมให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา จะตีความอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากต้องการจะอุ้มกัน ท้ายที่สุดก็ต้องยินยอมให้ฆราวาสฟ้องได้ เพราะว่าตามหลักระบุไว้ชัดแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาแน่นอน ที่นี้คนทั่วไป ประชาชน อย่างท่านอย่างผม อย่างใครก็ตามนี่ ไม่ได้หมายความว่าตัดสินไปแล้วว่าธัมมชโยผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ต้องการจะให้มีการพิสูจน์ในเมื่อมีการกล่าวหากันอย่างนี้ให้มีการพิสูจน์ตามหลักพระวินัย ตามกฎหมายคณะสงฆ์ แต่ตอนนี้ยึกยักกัน ไม่ยอมให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ เราถึงต้องออกกำลังวิพากษ์วิจารณ์หรืออะไรต่ออะไรต่างๆ ถ้าเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสงฆ์เรียบร้อยแล้วก็เป็นหน้าที่ของท่านสิ ท่านจะว่าอย่างไรก็เรื่องของท่าน ท่านตัดสินไม่ดีท่านก็ต้องรับไป ใช่ไหม ผู้ตัดสินเบื้องต้นมี ๓-๔ องค์ ตัดสินไม่ถูก ตัดสินมีอคติ สังคมเขาก็รู้เอง ตอนนั้นเราไม่ยุ่งแล้ว เราพูดวิพากษ์วิจารณ์ พวกอลัชชีบางองค์ก็บอก ไอ้นี่ ไม่ทำมาหากิน ตั้งหน้าตั้งตาด่าแต่พระผู้ใหญ่

กระทั่งว่ารับเงินจากต่างศาสนา

ผมเกือบจะพูดว่า ผมไม่ได้ด่าพระผู้ใหญ่หรอก ผมด่าอลัชชีต่างหาก ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ผมไม่ด่าหรอก..."

หลักฐานที่ธรรมกายสอนผิดๆว่า "นิพพานเป็นอัตตา"

หลักฐานที่ธรรมกายสอนว่า นิพพานเป็นอัตตา

1.มงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท พระสมชาย ฐานวุฑฺโฒ พิมพ์ครั้งที่ 10/2541 หน้า 324

"นิพพาน เป็นอัตตาเป็นตัวตนที่แท้จริง บังคับบัญชาได้ เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง"

2.กำเนิดโลกและมนุษยชาติ พระเผด็จ ทตฺตชีโว พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม 2537 หน้า 49 ย่อหน้าแรก

"ธรรมแรกที่เกิดด้วยอำนาจบุญที่เราสร้างมาดีแล้ว ด้วยตาของเราเอง ด้วยความเพียร ไม่ย่อหย่อนด้วยหิริโอตตัปปะ ด้วยอัตตาหิอัตตโน นาโถ ด้วยกำลังความสามารถของเราเองนี่แหละ เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ถึงเวลานั่นแหละเข้านิพพาน นี่ก็เป็นอย่างนี้ นี่คือสภาพของโลกเรา"

--------------

วัดพระธรรมกายสอนว่า “ธรรมกายเป็นอัตตา” [พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว), พระแท้, มูลนิธิธรรมกาย, 2540, หน้า 323-328] และสอนว่า นิพพานเป็นอัตตา ดังนี้

โอวาทพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 เรื่อง “เป้าหมายของชีวิต” ความว่า

เป้าหมายของการเกิดเป็นมนุษย์คือ การแสวงหาพระนิพพาน ทำพระนิพพานให้แจ้ง ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือมุ่งจะไปพระนิพพาน นั่นคือ วัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะ พระนิพพานเป็นแดนแห่งบรมสุข เป็นเอกันตบรมสุข มีสุขอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หรือประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความผิดหวัง ความเศร้า ซึม เซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้ม ความปวด ความเมื่อย โรคภัยไข้เจ็บอะไรไม่มีเลย มีแต่สุขอย่างเดียว เรียกว่า เอกันตบรมสุข ... และเป็นที่รวมประชุมแห่งผู้มีอานุภาพ เป็นผู้ที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระจากสิ่งที่เขาบังคับบัญชากันมายาวนาน เป็นที่ ๆ คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีสุขล้วน ๆ เป็นตัวของตัวเอง ที่เรียกว่าอัตตา เป็นตัวจริง เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” (มูลนิธิธรรมกาย, อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ เล่ม 11, บริษัทฐานการพิมพ์ จำกัด, 2541, หน้า 26)

----

(** สุขขัง เป็นการเขียนผิด ที่ถูกต้องเป็น สุขัง, หนังสือ มงคลชีวิตฉบับธรรมทายาท เขียนเป็น สุขัง ในขณะที่หนังสือ อานุภาพมหา-สิริราชธาตุ เล่ม11 เขียน สุขขัง , หลักที่แท้จริงมีว่า ถ้าเป็นฝ่ายลำบาก จะสะกดด้วยอักษาที่หนักตัวหน้า เป็นเสียงครุ เช่น ทุกขัง, ทุจจริต แต่ถ้าเป็นฝ่ายสบาย จะไม่สะกดด้วยอักษรตัวหน้า เป็นเสียงลหุ เช่น สุขัง, สุจริต เป็นต้น อาจเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าผู้เขียนมิได้มีความรู้ทางภาษาบาลีอย่างแท้จริง**)

กรณีชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ - คำชี้แจงจากกระทรวงกลาโหม

กรณีชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ
ตามที่ พ.อ.บรรจง ไชยลังกา ได้ออกหนังสือ จากชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ มีข้อความดูหมิ่น และโจมตีมหาเถรสมาคม และท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก กระทรวงกลาโหม ขอเรียนชี้แจงดังนี้
๑. ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ ไม่ใช่ชมรมของกองทัพ
๒. การกระทำของ พ.อ.บรรจง ไชยลังกา ที่ออกบทความและเอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ผิดกฏหมาย และเป็นเท็จ เผยแพร่แจกจ่าย ในที่ประชุมพระสังฆาธิการ และในโอกาสต่างๆนั้น กองทัพมิได้มีส่วนรับรู้ และเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

http://www.defence.thaigov.net/

------------
เดลินิวส์ 24/12/2542
http://members.tripod.com/~rabob/daily422.htm

ธรรมกายบุกถ้ำศธ. ย้ายแล้วพ.อ.คนดัง

ธรรมกาย"บุกถ้ำ"สมศักดิ์-วิชัย" ยกพลเข้าฝากเนื้อฝากตัวถึงกระทรวงศึกษาฯ แถมชวนไปร่วมกิจกรรมวัดแต่ถูกปฏิเสธ 2 รมต.ศึกษาฯยืนกรานให้เลิกหัวหมอพิสูจน์ตัวเองตามกติกา เผยผบ.ทบ.สั่งย้าย"พ.อ.บรรจง ไชยลังกา"แนวร่วมธรรมกายแล้ว โฆษกทัพบกระบุการเคลื่อนไหว ที่ผ่านมาแอบอ้างชื่อ"ชมรมพุทธ 3 เหล่าทัพ" ยันกองทัพไม่เคยเกี่ยวข้องธรรมกาย "มหิดล" แจงกรณีถูก"ดร.เบญจ์"และผู้อ้างตัวเป็นประธานชมรมชาวพุทธ 3 เหล่าทัพกล่าวหาตั้งขบวนการ บิดเบือนพระไตรปิฎก โต้คำว่าขบวนการน่าจะใช้กับกลุ่ม"พระปลอม"มากกว่า

ที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. นายวิระศักดิ์ ฮาดดา หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิธรรมกาย พร้อมศิษย์วัดพระธรรมกายอีก 9 คน ได้เดินทางเข้าอวยพรปีใหม่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ โดยนายวิระศักดิ์กล่าวว่า ในนามมูลนิธิธรรมกาย วัดพระธรรมกาย และนายไชยบูลย์ สุทธิผล ขออวยพรให้นายสมศักดิ์มีความสุข ความเจิรญ ขอฝากวัดพระธรรมกายอยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ 1 วัด และขอเชิญนายสมศักดิ์เข้าร่วมงานพุทธสหัสวรรษที่ 3 แห่งพระรัตนตรัย ซึ่งจัดขึ้นในเทศกาลปีใหม่ที่วัดพระธรรมกายด้วย

จากนั้นนายสมศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณ ส่วนเรื่องฝากให้ดูแลวัดพระธรรมกายนั้นนายสมศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนก็ยึดมั่นในหลัก คำสอนและไม่เคยปฏิเสธวัดใดวัดหนึ่งที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย วัดพระธรรมกายก็เหมือนกัน ตลอดเวลาของการปฏิบัติต่อวัดพระธรรมกายเพราะอยากให้พิสูจน์ว่า เป็นไปตามที่มีการกล่าวหาจริงหรือไม่ และรู้สึกเจ็บปวดแทนที่มีผู้กล่าวหาว่าวัดธรรมกายหลอกลวง ซึ่งหากทางวัดสามารถพิสูจน์ตัวเองได้สังคมก็จะคลายความเคลือบแคลง โดยเฉพาะหากนายไชยบูลย์และพระเผด็จ ทัตตชีโว รองเจ้อาวาส สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ก่อนปีใหม่ก็จะเป็นการดี

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า กรณีที่มีคนโทรศัพท์มาข่มขู่ทั้งตนเองและครอบครัว และใช้วาจาที่ไม่ดี ก็ไม่เคยมองคนวัดพระธรรมกายเป็นศัตรู กลับเห็นใจและมองโลกในแง่ดี ถ้าทางวัดพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็น ไปตามข้อกล่าวหาก็อาจมีผู้สนับสนุนมากขึ้น กระทรวงศึกษาฯและตนอยากให้มีการพิสูจน์

ด้านนายวิระศักดิ์กล่าวว่า 30 ปีของวัดพระธรรมกายตั้งขึ้นเพื่อให้คนทำความดี คนที่ข่มขู่นายสมศักดิ์ไม่เกี่ยวกับวัด ไม่ใช่กัลยาณมิตร ตลอด 1 ปีที่ถูกโจมตีก็ใช้ความสงบเพื่อต่อสู้ และยินดีเข้ากระบวนการตามกฎหมายทั้งทางโลกและทางธรรม ไม่เคยฝืนกฎ และขอเชิญนายสมศักดิ์ไปร่วมงานที่วัดซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ซึ่งนายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ว่าง ขอเป็นวันอื่น อยากไปอยู่แล้ว จะได้ดูการจัดงานและพิธีกรรมของวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการเข้าพบนายสมศักดิ์ของตัวแทนวัดพระธรรมกาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นตัว นายวิระศักดิ์และคณะ เพราะเกรงจะพกอาวุธหรือสิ่งของที่อาจก่อเหตุใดๆได้ และหลังจากเข้าพบนายสมศักดิ์แล้วคณะ ของวัดพระธรรมกายก็ได้นำปฏิทินและสมุดบันทึกของวัดไปอวยพรปีใหม่นายวิชัย ตันศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ และนายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ รองอธิบดีกรมการศาสนาด้วย

นายวิชัย ตันศิริ กล่าวกับคณะของวัดพระธรรมกายว่า กระทรวงศึกษาฯอยากให้ทุกอย่างเรียบร้อยโดยเร็ว หากยังติดขัดก็ไม่เป็นผลดี อยากให้ช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ใช่คิดแต่ด้านลบอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมากระทรวงปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม (มส.) จึงไม่อยากให้ไปตีความในทางหัวหมอ อยากให้พูดแบบตรงไปตรงมา

ต่อกรณีที่กรรมาธิการการศาสนาฯทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้สอบสวน "ชมรมพุทธ 3 เหล่าทัพ" ที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนวัดพระธรรมกาย และส่อเค้าจะทำให้เกิดความแตกแยกนั้น พ.อ.สมควร แสงภัทรเนตร โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพ.อ.บรรจง ไชยลังกา อาจารย์ประจำภาควิชาสงครามพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก กรณีเคลื่อนไหวแจกหนังสือ "เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ" และเคลื่อนไหวยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ในนามประธานชมรมพุทธ 3 เหล่าทัพแล้ว ขณะนี้พล.ท.ดร.จารุพัฒน์ เรืองสุวรรณ ผู้บัญชาการวิชาการทหารบกชั้นสูง ได้ส่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงมายังกองทัพบกเรียบร้อยแล้ว และขออนุมัติปรับย้ายพ.อ.บรรจง กลับไปยังเหล่าเดิมที่มณฑลทหารบกที่ 13 จ.ลพบุรี โดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ. ได้ลงนามอนุมัติคำสั่งนี้ไปแล้ว

"ขอยืนยันว่าการดำเนินการใดๆที่มีการแอบอ้างชื่อชมรมพุทธ 3 เหล่าทัพนั้น ทางกองทัพบกไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่กิจกรรมของกองทัพ ที่สำคัญไม่มีความผูกพันใดๆกันเลย"

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้พ.อ.บรรจงได้ถูกตั้งกรรมการสอบฐานขัดคำสั่งกรณีไปเคลื่อนไหว สนับสนุนวัดพระธรรมกายในเวลาราชการและใส่เครื่องแบบ ทหารโดยไม่ได้ขออนุญาต ทั้งๆที่ผู้บังคับบัญชาได้เตือนไปว่าขอให้หยุดการเคลื่อนไหวในนามชมรม พุทธ 3 เหล่าทัพ เพราะทำให้กองทัพเสียหาย และอย่าดึง สถาบันไปเกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเป็นการส่วนตัว สำหรับการดำเนินการสั่งปรับย้ายครั้งนี้ยังรวมไปถึงทหารที่มีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับพ.อ.บรรจงอีก 3 นาย โดยให้เข้าไปประจำสายวิทยาการของตัวเองเช่นเดียวกัน

ในส่วนของพ.อ.บรรจงนั้น ได้เคลื่อนไหวแจกจ่ายหนังสือของ ดร.เบญจ์ บาระกุล ซึ่งข้อเขียนมีเนื้อหาหมิ่นประมาทบุคคลสำคัญ นอกจากนั้นยังร่วมเขียน คำนำในหนังสือของดร.เบญจ์เล่มล่าสุดคือ "ไวรัสศาสนา มหันตภัยของชาวพุทธ" อีกด้วย ซึ่งหนังสือทั้งหมดมีข้อความโจมตีพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ปราชญ์ศาสนา เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ที่ออกมาปลุกชาวพุทธให้รู้ถึงภัยของธรรมกาย สำหรับประวัติของพ.อ.บรรจง ไชยลังกานั้น จากรายงานของหน่วยงานความมั่นคงระบุว่า จบเตรียมทหารรุ่น 21 เลขประจำตัว 11428 อายุ 40 ปี อุปนิสัยมีความรักชาติ แต่ชอบคิดมากและมักจะอนุมาณด้วยตัวเองว่าจะเกิดเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ในบ้านเมือง และต้องเป็นแนวหน้าในการแก้ไขปัญหา ชอบเขียนหนังสือข้อพิจารณาต่างๆ เสนอนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี บางครั้งทำเอกสารเผยแพร่โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ทำให้ถูกตั้งกรรมการสอบสวน

ทางด้าน ดร.ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ หัวหน้าโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 ธ.ค. 2542 ส่งไปถึงสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ชี้แจงกรณีที่เนื้อหาในหนังสือของดร.เบญจ์ และกรณีที่มีผู้อ้างตัวว่าเป็นประธานชมรมชาวพุทธ 3 เหล่าทัพทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โจมตีการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ว่ามีความผิดพลาด ทำอย่างไม่รู้ ทั้งนี้ ดร.ศุภชัยระบุว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินเจตนาดีที่เป็นสามัญสำนึกของชาวพุทธต่อมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะที่มีการกล่าวหาว่าสมคบคิดล้มล้างตั้งขบวนการบิดเบือนพระไตรปิฎก ซึ่งดร.ศุภชัยได้จัดส่งเอกสารชี้แจงข้อท้วงติงต่างๆซึ่งเป็นจุดที่ถูกโจมตี และแนวนโยบายในการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์มาด้วย

ทั้งนี้ ในเอกสารชี้แจงดังกล่าวดร.ศุภชัยยืนยันว่า ในมหาวิทยาลัยมหิดลไม่มีขบวนการ ผู้ที่โจมตีควรจะใช้คำว่าขบวนการกับกลุ่มบุคคลที่ชั่วร้าย เช่น ขบวนการก่อการร้าย ขบวนการพระปลอมมากกว่า พร้อมกันนี้ยังยืนยันด้วยว่าจะดำเนินโครงการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรูปแบบของเทคโนโลยีต่อไป เพื่อให้เป็นที่แพร่หลายและยังประโยชน์แก่ผู้ศึกษามากที่สุด และเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่สัมมาปฏิบัติขัดเกลากิเลสของปุถุชน ซึ่งหากมีส่วนใดขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดก็จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป

----------------------
ธรรมานุรักษ์ ฉบับที่ ๒๖ ประจำเดือน กันยายน ๒๕๔๔
http://www.budnet.info/dhnr/26/new326.html

องค์กรชาวพุทธเคลื่อนไหวต้านภัยศาสนา

ชาวพุทธหลายวงการ พร้อมใจเคลื่อนไหวต่อต้านขบวนการปั้นเรื่องเท็จใส่ร้ายพระธรรมปิฎก ชี้แกนนำสัมพันธ์ลึกซึ้งกับวัดธรรมกาย
สืบเนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มบุคคลผู้ใช้ชื่อ "ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ" ได้ออกหนังสือ "เอกสารประกอบการพิจารณาสำหรับคณะสงฆ์เพื่อลงสังฆมติ" ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีพระธรรมปิฎกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และรับเงินจากศาสนาอื่นมาทำลายพุทธศาสนา ทั้งยังเรียกร้องให้พระสงฆ์ทั่วประเทศร่วมลงชื่อเพื่อดำเนินการกับพระธรรมปิฎก ทั้งทางพระธรรมวินัยและทางกฎหมายบ้านเมือง โดยชมรมดังกล่าวได้เผยแพร่เอกสารดังกล่าวพร้อมเท้ปและแผ่นซีดีไปตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยมีกลุ่มบุคคลที่ทำงานให้วัดพระธรรมกาย ให้ความร่วมมือพร้อมกับเดินสายบรรยายโจมตีพระธรรมปิฎก ในที่ประชุมพระสังฆาธิการตามจังหวัดต่าง ๆ

นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ได้เปิดเผยว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับวัดพระธรรมกาย และมีความพยายามที่จะโค่นล้มทำลายพระธรรมปิฎก เพื่อจะได้บิดเบือนคำสอนทางพุทธศาสนาได้โดยสะดวก ดังนั้นตนจึงได้ออกเอกสารชิ้นหนึ่งตอบโต้กลุ่มดังกล่าว ชื่อ" หนังสือเปิดโปงขบวนการล้มพุทธ ภัยที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา" เพื่อเปิดโปงชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพว่าเป็นกลุ่มที่อ้างชื่อกองทัพขึ้นมาลอย ๆ โดยกองทัพไม่มีส่วนรับรู้ นอกจากนั้นยังเปิดโปงผู้เขียนที่ใช้ชื่อดร.เบญจ์ บาระกุล ซึ่งถูกตำรวจออกหมายจับทั่วประเทศ

นอกจากนั้นนายเสฐียรพงษ์ ยังกล่าวว่าตนได้จัดตั้งกองทุนพิมพ์หนังสือชี้แจงความจริงอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ"ขอคำตอบจากผบ.ทหารสูงสุด กรณีนายทหารทุจริตแห่งชมรม(เถื่อน)ชาวพุทธสามเหล่าทัพ" เพื่อเผยแพร่แก่พระเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศด้วย โดยผู้ที่ประสงค์จะทำบุญร่วมทุนพิมพ์หนังสือดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ โทร.๐๒-๕๘๙๙๐๑๒,๐๒-๕๘๐๕๑๒๗
ขณะเดียวกันรายการวิทยุธรรมะร่วมสมัย โดยพ.อ.(พิเศษ)ทองขาว พ่วงรอดพันธุ์ เตรียมจัดพิมพ์หนังสือชื่อ"เปิดหน้ากากธรรมกาย ลากไส้ดร.เบญจ์" เขียนโดยน.อ.ทองย้อย แสงสินชัย รองผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ทหารเรือเพื่อตอบโต้เอกสารดังกล่าว ทางด้านบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ก็จะออกหนังสือเปิดโปงพ.อ.บรรจง ไชยลังกา ประธานชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ เช่นกัน

นอกจากนั้นเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรเอกชนหลายองค์กร อาทิมูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิพุทธธรรม มูลนิธิเด็ก ได้ร่วมกันทำหนังสือเวียนขอความร่วมมือจากบุคคล องค์กร สถาบันและประชาชนทั่วไป ร่วมกันแจกจ่ายเอกสารปกป้องพระธรรมปิฎก และชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพออกเอกสารโจมตีให้ร้ายพระไตรปิฎก อีกทั้งเผยแพร่เอกสารผิดกฎหมายไปทั่วประเทศ (ดู"จดหมายเปิดผนึก" ของเครือข่ายชาวพุทธ ฯ ในเล่ม)

------
บก.สูงสุดชี้แจงไม่เกี่ยวข้อง "ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ"
กองบัญชาการทหารสูงสุดเปิดเผย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ" ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ" ซึ่งเผยแพร่เอกสารผิดกฎหมายใส่ร้ายพระธรรมปิฎก


สืบเนื่องจากพันเอกบรรจง ไชยลังกา ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นประธาน" ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ" ทำการเผยแพร่บทความและเอกสารสิ่งพิมพ์ผิดกฎหมายและใส่ร้ายพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา

พลโทพิศณุ อุไรเลิศ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ ไม่ใช่ชมรมของกองทัพ เป็นเพียงการกล่าวอ้างอิงกองทัพขึ้นมาลอย ๆ" นอกจากนั้นยังยืนยันว่า บทความและเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่จัดทำและเผยแพร่โดยพันเอก บรรจง ไชยลังกา ประธานชมรม ชาวพุทธสามเหล่าทัพ และดร.เบญจ์ บาระกุลนั้น เป็นเอกสารผิดกฎหมายและเป็นเท็จโดยที่กองทัพมิได้มีส่วนรับรู้และเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

พลโทพิศณุ อุไรเลิศได้เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าว หลังจากที่พระธรรมปิฎกได้ทำหนังสือถึงกองบัญชาการทหารสูงสุด ขอให้ค้นหาความจริงกรณีดังกล่าวและช่วยเผยแพร่ความจริงให้สาธารณชนรับทราบ

ก่อนหน้านั้นได้มีรายงานข่าวว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวอย่างเปิดเผย ในการประชุมพระสังฆาธิการที่จัดโดยเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะบางจังหวัด นอกจากนั้นเจ้าคณะพระสังฆาธิการดังกล่าว ยังเปิดโอกาสหรือร่วมมือกับนายทหารบางคนที่อ้างว่าอยู่ในชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ ทำการโจมตีใส่ร้ายพระธรรมปิฎก ในหลายโอกาส จนกระทั่งพระธรรมปิฎกได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการศาสนาในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะจังหวัด เพื่อขอปวารณาต่อคณะสงฆ์ที่จะตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาในเอกสารดังกล่าว อย่างไรก็ตามมหาเถรสมาคมมิได้ดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพียงแต่รับทราบเรื่องเท่านั้น

หนังสือของผู้ใช้นามว่าดร.เบญจ์ บาระกุลนี้ พล.ต.อประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เคยออกคำสั่งสั่งห้ามขายหรือจำหน่ายจ่ายแจก เนื่องจาก"มีลักษณะอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๘" อย่างไรก็ตามหนังสือดังกล่าวยังถูกเผยแพร่และวางขายในที่ต่าง ๆ อย่างเปิดเผย รวมทั้งมีการนำไปวางแจก ณ บริเวณพุทธมณฑลในงานวิสาขบูชาและงานพิธีต่าง

ดร.เบญจ์ บาระกุล / ชมรมพุทธสามเหล่าทัพ / ธรรมกาย ???

มาจาก http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003539.htm
กระทู้เรื่อง

แง่คิดเกี่ยวกับ ศาสนา ปรัชญา…ในมุมมอง ส.ศิวรักษ์

หนังสือชื่อ ความเข้าใจในเรื่อง พระรัตนตรัย จากมุมมองของ ส.ศิวรักษ์

........
ทางด้าน พ.ต.ท.เชน กาญจนปัจจ์ รองผู้กำกับการ ๒ กองปราบปราม
ซึ่งในอดีตเป็นผู้ทำคดี การออกหนังสือผิดกฎหมายของ ดร.เบญจ์ บาระกุล
สาวกวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า พ.อ.บรรจง ไชยลังกา
เป็นนายทหารที่คลั่งไคล้แนวทางของวัดพระธรรมกายมาก เมื่อ ๒ ปีก่อน
สมัยที่กองปราบนำกำลังเข้าไปจับ ดร.เบญจ์ บาระกุล
ขณะกำลังจัดอภิปรายโจมตีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวัดในโรงแรมแห่งหนึ่ง
ตำรวจก็ได้พบว่า มี พ.อ.บรรจงอยู่ในกลุ่มด้วย
โดยระยะหลังได้ออกมาตั้งกลุ่ม ตั้ง ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ
แอบอ้างสถาบันทางกองทัพไปเคลื่อนไหวโจมตีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวัดพระธรรมกาย
รอง ผกก.๒ ป. กล่าวว่า หมายจับเพื่อดำเนินคดีกับ ดร.เบญจ์ บาระกุล
ขณะนี้ยังมีอยู่ที่กองปราบปราม ซึ่งชื่อ ดร.เบญจ์ บาระกุล นั้น
เป็นบุคคลที่มีตัวตน ทว่าอาจไม่ใช้ชื่อดังกล่าว
เพราะที่ผ่านมากลุ่มนี้มักชอบการแอบอ้างเสมอ
แม้กระทั่งวุฒิการศึกษาของคนที่ใช้ชื่อ ดร.เบญจ์ บาระกุล ก็ปลอม
ไม่มีชื่อสาขา และสถาบันการศึกษาที่อ้างว่าจบจากต่างประเทศอยู่
จริงในโลกมนุษย์
ขนาดชื่อสถาบันยังเขียนผิดดังที่เคยออกหนังสือต้องห้ามออกมาจนตำรวจสั่งเก็บ

ข่าวแจ้งว่า ขณะนี้หนังสือ
เอกสารประกอบการพิจารณาสำหรับคณะสงฆ์เพื่อลงสังฆมติ
กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของตำรวจสันติบาล
ว่าจะมีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
ดังที่ก่อนหน้านี้ได้เคยมีคำสั่งเก็บหนังสือโดยกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวกันมาก่อนแล้ว

อ่านทั้งหมดได้ที่นี่
http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003539.htm

------------------------

http://www.budnet.info/dhnr/26/rompoh326.html

......ข้าพเจ้าไม่ได้พูดถึงกรณีธรรมกาย หรือปัญหาอลัชชีหากกำลังพูดถึงการใส่ร้ายทำลายพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) อย่างเป็นขบวนการด้วยการเผยแพร่หนังสือ เอกสาร เทปและออกบรรยายปั้นแต่งเรื่องเท็จไปทั่วประเทศ ทั้งๆที่หนังสือและเอกสารดังกล่าว (ซึ่งเขียนโดยผู้ใช้ชื่อว่าดร.เบญจ์บาระกุล) เป็นสิ่งพิมพ์ผิดกฎหมายมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกทั้งมีคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติห้ามมิให้ขายหรือจำหน่ายจ่ายแจกมาแต่ปี ๒๕๔๒ แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้ก็ยังมีการวางขายและเผยแพร่หนังสือดังกล่าวอย่างเปิดเผยที่น่าเสียใจก็คือ สถานที่ที่แจกหนังสือผิดกฎหมายเหล่านี้หาใช่ที่ใดไม่หากได้แก่ตามวัดต่าง ๆ เวลามีการประชุมพระสังฆาธิการโดยผู้จัดบางครั้งเป็นถึงกับเจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะจังหวัดยิ่งกว่านั้นเจ้าคณะพระสังฆาธิการดังกล่าวยังให้ความสนับสนุนขบวนการดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วยการนิมนต์พระบางรูปหรือนายทหารบางคนซึ่งอ้างตนว่าอยู่ใน"ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ"มาบรรยายใส่ร้ายพระธรรมปิฎกว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาบ้าง เป็นคอมมิวนิสต์บ้างรับแผนจากฝ่ายคริสต์บ้าง เป็นต้น ..............

สิ่งที่ธรรมกาย สอนผิดๆ

http://www.kalyanamitra.org/morning/report/dmon04_09_46.html

บูชา มหาปูชนียาจารย์ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ตอนที่ ๔


.....การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระพุทธองค์ทรงอุบัติพร้อมด้วย “ ธรรมกายพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมได้ด้วย ”ธรรมกาย” พระองค์คือ “ธรรมกาย” และธรรมกาย ก็คือพระนามหนึ่งของพระพุทธองค์

.....ตลอด ๔๕ พรรษา แห่งพุทธกิจ พระองค์ได้อบรมสั่งสอนชาวโลกทั้งหลายเพื่อให้รู้เห็นธรรมกายและเข้าถึงธรรมกาย เหมือนดั่งพระองค์ เช่น ครั้งหนึ่ง พระนางปชาบดีโคตมี ได้กราบทูลพระองค์ว่า

.....“ร่างกายแห่งพระพุทธองค์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ในฐานะเจ้าชายสิทธัตถะ พระนางเป็นผู้ถวายการบำรุงเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ แต่บัดนี้พระพุทธองค์ทรงให้กำเนิดแก่พระนาง ให้พระนางเกิดใหม่ด้วยกายธรรม หรือเป็นการเกิดขึ้นด้วย “ ธรรมกาย ”
ในกาลต่อมา แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แต่ “ธรรมกาย” ของพระองค์ก็ยังคงอยู่มิได้เสื่อมสูญไป รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติที่ยังคงอยู่ เพราะมีพระอรหันต์ขีณาสพ เป็นผู้รู้ตามพระองค์เข้าถึง “ธรรมกาย” ยังมีอยู่มาก

.....ต่อจากนั้นไม่นานนัก เป็นที่น่าเสียดายว่า “วิชชาธรรมกาย” แนวทางการปฏิบัติอันเป็นหนทางเข้าถึงวิชชาของพระพุทธองค์ ได้เลือนหายไปจากโลกครั้นเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้เพียง ๕๐๐ ปี หลังจากนั้นการปรากฏของคำว่า “ธรรมกาย” ให้ชาวโลกทั้งหลายได้รู้ เหลือเพียงอักษรจารึกไว้ไม่กี่แห่งในพระไตรปิฎก แต่ก็ไม่มีพระอรรถกถาจารย์หรือผู้รู้ทางศาสนาท่านใด สามารถอธิบายให้กระจ่างได้ว่า “ธรรมกายคืออะไร อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร มีแนวปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เข้าถึง”ธรรมกาย”

.....ด้วยความละเลยจนเกิดความลืมเลือนดังกล่าว คำว่า “ธรรมกาย” จึงกลายเป็นคำที่ผู้ได้รู้ ได้ฟังในภายหลัง รู้สึกว่าเป็นคำที่แปลกใหม่ บ้างก็ว่าผิดเพี้ยนไปจากหลักพระพุทธศาสนา เป็นต้น

เพื่อความเข้าใจกรณีวัดพระธรรมกาย- โดย สมเกียรติ มีธรรม

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๔๓
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๓

http://www.skyd.org/html/sekhi/43/understand-DMK.html
--------------------------------------------------------------------------------
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม พร้อมบทวิเคราะห์ และแก้ข้อกล่าวหา เรื่องขบวนการล้มพุทธ
ในหนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” และ “พุทธศาสนาชะตาของชาติ” ซึ่งเขียนโดยผู้ใช้นามว่า ดร.เบญจ์ บาระกุล
--------------------------------------------------------------------------------

ธุดงคสถาน ปฐมฐานของความขัดแย้งที่ดิน - สีกา

อันที่จริงปัญหาวัดพระธรรมกาย ไม่ได้เกิดจากความอิจฉาริษยา หรือความจงเกลียดจงชังจากกลุ่มบุคคลใด กลุ่มบุคคลหนึ่ง ดังที่วัดพระธรรมกายมักยกมากล่าวอ้างเสมอว่ามีขบวนการล้มพุทธ ทำกันเป็นระบบ เป็นขบวนการและรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศเข้ามาเพื่อทำลายพระพุทธศาสนา

หากแต่ปัญหาของวัดพระธรรมกาย ถ้าพินิจพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ ก็จะเห็นว่า เกิดจากมิจฉาทิฐิของพระและฆราวาส ที่เกาะกลุ่มกันเป็นแก๊งอยู่ในวัด จนเป็นเหตุให้ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย และทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ตลอดจนถึงการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ และทำธุรกิจอีกหลายด้าน ทั้ง ๆ ที่ผ่านมามีผู้ปราถนาดีหลายท่าน เขียนหนังสือ และบทความ ออกมาทักท้วงตักเตือนอย่างต่อเนื่อง อาทิ หนังสือ “สวนโมกข์– ธรรมกาย–สันติอโศก” น.๕๕ ของนายแพทย์ประเวศ วะสี เขียนเตือนไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ว่า

“ธรรมกาย” ในส่วนที่เป็นองค์กรจัดตั้งนั้น ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ มีพลังรุกได้รวดเร็ว ข้อเสียคือ ๑.) ต้องใช้เงินมาก ๒.) หลักธรรมแคบ ๓.) มีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และคอรัปชั่นในอนาคต”

นอกจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวกรณีที่ดินกับชาวนารอบวัด มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์ซอยสวนพลู ฉบับวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑ หน้า ๙ ว่า

“สำหรับผมเอง เห็นว่า วัดธรรมกายมีสภาพห่างไกลจากวัดที่เรารู้จักออกไปมาก เพราะมีแผนการค้าอย่างทันสมัย เช่นเดียวกับองค์การค้าร้านค้าอื่นๆ กล่าวคือ มีสินค้าที่จะขาย ได้แก่ การทำสมาธิ แล้วก็มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้คนมาซื้อสินค้านั้น ซึ่งก็ได้ผลดีมาก การขายสินค้านั้นก็ทำด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด เพราะมิได้เก็บเงินค่าทำสมาธิจากผู้ที่ไปเข้าวัดอย่างตรงไปตรงมา แต่ทำในรูปทอดผ้าป่า…”

ถ้านับถอยหลังไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวัดพระธรรมกายเป็นต้นมา(ปี ๒๕๒๐) พฤติกรรมตามที่นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวไว้ มีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ทั้งในแง่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อระดมทุน และความขัดแย้งภายในวัด นับแต่ตั้งชื่อวัด(ปี พ.ศ. ๒๕๒๔)ตามชื่อผู้บริจาคที่ดินจำนวน ๑๙๖ ไร่ ว่า “วัดวรณีย์ธรรมกายาราม” และเปลี่ยนมาเป็น “วัดพระธรรมกาย” ในปีเดียวกัน อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงด้านความคิด เกี่ยวกับการสร้างวัด ซึ่งอาจารย์วรณีย์ ต้องการให้สร้างวัดตามประเพณีนิยมแบบไทยๆ แต่พระธัมมชโยไม่เห็นด้วย และขัดขวางกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง อาจารย์วรณีไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินยกให้เป็นของวัดเรียบร้อยแล้ว แต่มาถึงขั้นมีการทะเลาะแตกหักกับพระธัมมชโย และพระธัมมชโยได้สั่งตัดคำ “วรณีย์” ออกจากชื่อของวัด ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัม-ภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ว่า

“พ่อของนางสาววรณีย์เป็นลุงตน ได้รับมรดกมาจากป้า เมื่อจบการศึกษาจากต่างประเทศก็มาสอนที่วัดชนะสงคราม ได้เงินเดือนๆละ ๓,๐๐๐ บาท เมื่อคุณป้าคือ คุณหญิงหยด และคุณหญิงย้อย บอกให้นำเงินเดือนไปถวายพระ และด้วยความเลื่อมใสหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เมื่อลูกศิษย์ต้องการขยายวัดก็ได้มาชวน จึงได้บริจาคที่ดิน ๑๙๓ ไร่ให้ไป ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อในตอนแรกว่าวัดวรณีย์ธรรมกายารามจากนั้นไม่นาน มีข่าวว่านางสาววรณีย์จะนำเงิน ๕ ล้านบาทไปถวายหลวงพ่อลิงดำ ทำให้ลูกศิษย์หลวงพ่อสด ๒ องค์นี้ไม่พอใจ เมื่อวันเปิดตัววัดใหม่ ก็ไม่ได้เชิญนางสาววรณีย์ สุดท้ายญาติผู้พี่ของตนจึงได้นำเงินไปบริจาคให้วัดปากน้ำ สร้างศาลาหินอ่อนเพื่อนั่งสมาธิ ตั้งแต่นั้น วัดพระธรรมกายและคุณพี่วรณีย์ก็ขาดกัน และขอให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ มีการใช้ชื่อธรรมกายมาจนถึงทุกวันนี้..”

โดยก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ได้จัดอบรมเป็นระยะๆ โครงการที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น ก็คือ โครงการอบรมศาสนทายาท และอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน เป็นโครงการแรกที่จัดขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๕ ในการอบรมรุ่นแรก มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ารับการอบรม ๖๐ คน ได้ผ่านขั้นตอนการอบรมธรรมทายาทอย่างทรหด อดทน ด้วยการสมาทานศีล ๘ อยู่กลด เอาชนะใจตนเองด้วยการฝึกสมาธิให้ใจหยุด ใจนิ่ง ในสภาพความเป็นอยู่ที่ปราศจากเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน ท่ามกลางคูน้ำและคันดินที่เพิ่งถูกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ จากสภาพท้องนาอันแห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีศาลาปฏิบัติธรรม ไม่มีโรงทานและเรือนไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ธรรมทายาทที่ผ่านการอบรมรุ่นแรกนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า “ธรรมทายาทรุ่นทนทายาด” นี่คือสัญญาณแห่งความวิปลาส ซึ่งจะนำไปสู่ความวิบัติ อันเกิดจากการกระทำของวัดพระธรรมกายเอง ที่พยายามหล่อหลอมอุดมการณ์แบบธรรมกายแก่ผู้เข้ารับการอบรม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ทางวัดได้เสนอแผนการขยายพื้นที่วัดออกไปอีก ๖,๐๐๐ ไร่ ในนามโครงการสร้างสวนป่าชานเมือง สำหรับธุดงค์มหาชน มีการนำเสนอโครงการนี้ต่อรัฐบาลผ่านทางอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ซึ่งเป็นสมาชิกที่แข็งขันผู้หนึ่ง โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในรูปกองทุน อย่างไรก็ตาม แผนนี้ถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทางวัดจึงได้หาแนวทางระดมทุนใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ออกไป โดยได้จัดซื้อที่ดินจากกองมรดกของ มรว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ในราคาไร่ละ ๒๐,๐๐๐ บาท เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นที่มาของข้อพิพาทระหว่างวัดพระธรรมกายกับชาวนา จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ทางวัดพระธรรมกาย ได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีความเป็นระบบแบบแผนยิ่งขึ้น โดยแบ่งสายงานออกเป็น ๓ ฝ่ายใหญ่ คือ ฝ่ายบริหารงานบุคคล ฝ่ายจัดหากองทุน และฝ่ายเผยแพร่ธรรมะ ขณะเดียวกันได้จัดทำโครงการชักชวนประชาชนเข้าวัด โดยกำหนดเป้าหมายไว้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ว่าต้องชักชวนคนเข้าวัดให้ได้ถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน และเพิ่มสูงขึ้นในปีถัดมาและในระยะนี้เอง เริ่มมีสีกาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเจ้าอาวาส ดังคำให้สัมภาษณ์ของพระอดิศักดิ์ วิริยสกฺโก ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า

“อาตมาในฐานะเป็นผู้คลุกคลีในการบริหาร มีความรู้สึกว่า บางครั้งการกระทำของเจ้าอาวาส เป็นไปด้วยอารมณ์มากกว่าเป็นไปด้วยเจตนารมณ์ร่วมกัน เริ่มเมื่อสร้างวัดเสร็จประมาณปี ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘ ตอนนั้นเจ้าอาวาสเริ่มเปลี่ยนไป ไม่อยู่วัด เริ่มลับๆล่อๆไปอยู่เชียงใหม่ ถ้ามีงานจึงจะกลับมาสักครั้ง อยู่เชียงใหม่จะพาเศรษฐีทั้งหลายที่บริจาคให้กับวัดไปปฏิบัติธรรม ข้ออ้างของท่านคือบรรยากาศในวัดธรรมกายไม่สงบ เสร็จแล้วอาตมามองดูว่ามันเลยเถิด เช่น ท่านกล่าวชมสีกาต่างๆ สำนวนกล่าวชม เป็นลักษณะชายหนุ่มชมหญิงสาว มากกว่าที่จะเป็นความเมตตาของครูบาอาจารย์ อาตมาได้ยินด้วยตนเอง ยกตัวอย่าง ชมโยมผู้หญิงว่า “แหม! สวยจังเลย แก้มยุ้ย ติ่งหูสวย” ถ้าเป็นปรกติอาตมาจะเตือน แต่เมื่อถึงจุดที่สภาวะเจ้าอาวาสมีอิทธิพลสูง ไม่ใช่อาตมาจะตักเตือนได้ เป็นสภาวะที่ทุกอย่างเป็นคำสั่งของเจ้าอาวาส…”

ซึ่งถ้าพิจารณาจากคำสัมภาษณ์ของพระอดิศักดิ์ วิริยสกฺโก ขณะที่พำนักอยู่วัดพระธรรมกาย จะเห็นได้ว่า บรรยกาศภายในวัด เริ่มตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล เขียนไว้ว่า ในยุคนี้ แม้จะมีความเป็นระบบแบบแผนมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินใจ ไม่ได้เป็นไปในเชิงกระจายอำนาจ ทำให้เกิดความลักลั่น และเปิดโอกาสให้คนบางส่วนใช้ช่องว่างดังกล่าวสร้าง “กลุ่ม” หรือแนวร่วมของตนเพื่อขวางอีกคนหนึ่ง หรืออีกกลุ่มหนึ่ง


ศูนย์กลางธรรมกายสากล ศูนย์กลางการค้าบุญระดับโลก

กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และ ๒๕๒๙ เมื่อทางวัดจัดซื้อที่ดิน จำนวน ๒,๐๐๐ ไร่ ได้สำเร็จ เพื่อสานฝันในโครงการศูนย์กลางธรรมกายสากลแห่งโลก ทำให้ความขัดแย้งกับชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มีอยู่เดิมรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผู้เช่าที่จากเจ้าของที่ที่ขายให้แก่วัด จนชาวบ้านบางส่วนประมาณ ๓๐ คนได้เข้าร้องทุกข์ต่อกองปราบปราม กล่าวหาพระธัมมชโย พระทัตตชีโว พระปลัดสุธรรม สุธมฺโม นายสุนทร ศรีรัตนา และนายผ่อง เล่งอี้ รวมทั้งสิ้น ๕ ข้อหา เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๘ นอกจากนั้น ในปีเดียวกัน(๒๕๒๘) พระภาวนาวิริยคุณ รองเจ้าอาวาส เป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในภาคปฏิบัติ เป็นผู้รับคำสั่งจากพระธัมมชโยไปปฏิบัติ ใช้อำนาจและความยิ่งใหญ่อันไม่ชอบธรรมข่มขู่กดขี่ คิดค้นกโลบาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ทางวัดธรรมกายต้องการให้ที่ดินของวัด ๒,๐๐๐ กว่าไร่เชื่อมเป็นผืนเดียวกัน แต่เจ้าของโรงเรียนอนุบาลแสงเทียนไม่ยอมขายให้ เพราะเป็นห่วงการศึกษาของเด็กในพื้นที่ พระเผด็จ ทตฺตชีโว ได้วางแผนใช้หน่วยพิทักษ์ป่าที่มาอบรมภายในวัดก่อนบรรจุเป็นข้าราชการ ให้ทำการนานัปการเพื่อบีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ยังไม่ได้ผล จนในที่สุด พระทัตตชีโว ได้มีคำสั่งเด็ดขาดให้หน่วยพิทักษ์ป่ากลุ่มหนึ่ง ใช้กำลังข่มขืนบุตรสาวเจ้าของโรงเรียน จนเจ้าของตัดสินใจขายให้ทางวัดในวันรุ่งขึ้น

เมื่อทางวัดสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้สำเร็จ ในปีถัดมา(๒๕๒๙) มูลนิธิธรรมกาย จึงจัดส่งพิมพ์เขียวของแผนการตลาด เพื่อโปรโมต “สินค้า” (การทำบุญให้กลายเป็นสินค้า) ดังกล่าวเข้าประกวดใน “โครงการสุดยอดแผนการตลาด” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย และได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน ๑๙ สุดยอดแผนการตลาดประจำปีนั้น ๑๐ ซึ่งสามารถชักชวนคนเข้าวัดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ และเป็นช่วงที่วัดพระธรรมกายได้ระดมทุนสร้างฝัน โครงการศูนย์กลางธรรมกายสากลแห่งโลก อย่างเข้มข้น จน น.พ.ประเวศ วะสี เขียนหนังสือ สวนโมกข์–ธรรมกาย–สันติอโศก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เสนอแนะให้วัดพระธรรมกายพิจารณาตนเอง ๓ ประการ ด้วยกัน กล่าวคือ

๑. “ธรรมกาย” ไม่ควรชูเรื่อง “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า” เพราะจะทำให้ต้องไม่ทะเลาะกับคนจำนวนมาก ในทางทฤษฎี ควรขยายการสอนธรรมะให้ครอบคลุมพุทธธรรมโดยกว้างขวาง และขยายเรื่องทางปัญญาให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะเป็นช่องโหว่เรื้อรังหรือถาวร

๒. อย่าชู “ธรรมกาย” ให้เป็นเอกเทศ และดูเหมือน ไปบุกรุกเบียดพุทธอื่นๆ จะก่อความขัดแย้ง ซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับมาหาตัว ควรชูพุทธเป็นส่วนรวม

๓. ลดภาพพจน์ในความต้องการทางการเงินลง ควรจะดำเนินการในทางที่ไม่ต้องใช้เงินมากนัก โดยการกระจายยิ่งกว่าการที่จะกระจุกให้ใหญ่ และแพงเพิ่มขึ้นอีกต่อไปเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนน์ชีพอยู่ ขบวนการของพระองค์ก็ใหญ่โตน่าดู น่าศึกษาว่าพุทธองค์จัดตั้งอย่างไร จึงได้ผลดีแต่พระพุทธเจ้าคงจะรับสั่งไม่ได้ว่า “ถ้าไม่ได้เดือนละ ๑๕ ล้าน เราอยู่ไม่ได้”

ในปีต่อมา(๒๕๓๑) ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งกับชาวนารอบวัดรุนแรงขึ้น มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนบทความโจมตีการใช้เงินซื้อที่ดินของวัดพระธรรมกาย ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์ซอยสวนพลู วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๑ น. ๙ อย่างรุนแรงว่า

“ผมเห็นว่า การที่วัดเรี่ยไรเงินจากอุบาสกอุบาสิกา เพื่อไปซื้อที่เป็นจำนวนถึง ๒,๐๐๐ ไร่นั้น เป็นการหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างแน่นอน และเมื่อคำนึงว่า วัดธรรมกายในขณะนี้ มีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โต และตกแต่งเป็นระเบียบสวยงามอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้นึกว่า การเพิ่มบริเวณออกไปถึง ๒,๐๐๐ ไร่นั้น เป็นการเกินความจำเป็นจริงๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะมิให้คิดเช่นนั้นได้ แสดงให้เห็นว่า ใครก็ตาม ที่เป็นผู้วางแผนการพัฒนาของวัดธรรมกายนั้น เป็นผู้ที่ฟุ้งเฟ้อไม่มีประมาณ ถ้าหากเป็นพระ ก็เป็นพระที่ขาดสมณสารูปเอามากทีเดียว”


ธุรกิจผู้ทำบุญ กับกลุ่มกัลยาณมิตร

แต่กระนั้นก็ตาม วัดพระธรรมกายกลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ในปีเดียวกัน อันเป็นยุคทองของธุรกิจที่ดิน มูลนิธิธรรมกายถึงกับกระโดดลงมาทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เอง มีโครงการบ้านจัดสรร และที่ดินอื่นๆ เกิดขึ้นมามากมาย ไปจนถึงบ้านพักให้เช่า ขายหนังสือ เสื้อผ้า ของที่ระลึก เทป และอุปกรณ์นั่งกลด ซึ่งประทับสัญลักษณ์ธรรมกาย เพื่อขายให้แก่บรรดาสาวกทั้งหลายที่ไปร่วมปฏิบัติธรรม

บริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจในด้านนี้ ได้แก่ บริษัทดูแวค มีทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ประกอบธุรกิจพัฒนาที่ดิน บริษัทดีเวิลด์ มีทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ทำโครงการตะวันธรรม ประกอบธุรกิจพัฒนาที่ดิน บริษัทเอพริล ทุนจดทะเบียน ๓ ล้านบาท รับสัมปทานให้เช่าบ้านพักบนภูกระดึง จากกระทรวงเกษตรฯ ๓๐ ปี บริษัทดอกหญ้า ทุนจดทะเบียน ๕ แสนบาท บริษัทบ้านหนูแก้ว ประกอบธุรกิจขายหนังสือ เสื้อผ้า ของที่ระลึก บริษัทบัวบานการเกษตร ทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ทำโครงการตะวันทอง ประกอบธุรกิจพัฒนาที่ดิน บริษัทเมืองแก้วมณี ประกอบธุรกิจ โครงการอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียมและอาพาร์ตเมนต์ บริษัทยูทาวน์ ทุนจดทะเบียน ๑๐ ล้านบาท ทำโครงการรัตนปุระ บริษัทดีวีเอ็น ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร ในนามโครงการวิภาวันวิลล่า และบริษัทธรรมกิจนิเวศน์ ทำโครงการกิจนิเวศน์ ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร ๑๑ นอกจากนั้น ยังมี กลุ่มกัลยาณมิตร ทำหน้าที่ออกไปบอกบุญจากธรรมทายาทที่ร่วมนั่งปฏิบัติธรรม เพื่อนำเงินมาสร้างลานธุงคสถานให้ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น บอกบุญถวายผ้าป่า จัดสถานที่รับบริจาค เพื่อร่วมสร้างลานธุดงคสถาน และจัดพิมพ์วารสารกัลยาณมิตรแจกจ่ายไปยังสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างและจรรโลงพุทธศาสนา และเพื่อสนองตอบความต้องการของสมาชิกที่ต้องการนิพพาน ซึ่งทางวัดได้กำหนดการรับบริจาคปัจจัยว่า เป็นกองทุนหนังสือกัลยาณมิตรเพื่อหลวงพ่อธัมมชโย โดยแบ่งจุดรับบริจาคไว้ดังนี้ คือ ๑.ในงานวันกฐิน หรือวันสำคัญทางศาสนา มีจุดรับบริจาคที่วัดพระ-ธรรมกาย ๑๕ จุด ๒.วันอาทิตย์ รับบริจาค ณ วัดพระธรรมกาย มี ๕ จุดตามป้ายประกาศ ๓.วันธรรมดา จันทร์–เสาร์ จะเปิดรับบริจาค ณ สำนักงานกัลยาณมิตร อาคารสมาคมศิษย์เก่า มหา-วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ๔. ธนาณัติ ส่งไปที่วัดพระธรรมกาย ๑๒


เงิน-อำนาจ-อุดมการณ์ของธัมมชโย

และต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ทางวัดพระธรรมกายได้จัดโครงสร้างการทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การผลักดันของพระมโน เมตฺตานนฺโท มีการออกระเบียบ ประกาศ และขัอบังคับต่างๆ ให้กระจายอำนาจมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ อำนาจก็ยังกระจุกตัวอยู่กับเจ้าอาวาส ทำให้เกิดความขัดแย้งส่วนบุคคลในระดับสูงขององค์กร จนท่านเมตตานันโทภิกขุต้องจรลีไปอาศัยอยู่วัดราชโอรสาราม เนื่องจากเกิดการแข่งขันกันทำงานให้เป็นที่โปรดปราน และได้ใกล้ชิดตัวเจ้าอาวาส(ซึ่งถูกสร้างภาพให้เป็นบุคคลพิเศษ) จนก่อให้เกิดความอึดอัด และตึงเครียดทางจิตใจ เป็นเหตุให้บางคนต้องลาออกไป แต่ก็มีบางรายที่ลงเอยด้วยโศกนาฏกรรม พระภิกษุรูปหนึ่ง(พระชิตชัย มหาชิโต) ๑๓ ที่เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งวัดมาตั้งแต่ต้น ได้ชื่อว่าอุทิศตนอย่างสุดจิตสุดใจ และเป็นที่รักเคารพยิ่งของชาวธรรมกายมรณภาพลงในวัด ด้วยการฆ่าตัวตาย หลังจากทุกข์ทรมานด้วยอาการเครียดของโรค Schizophrenia อย่างแรงที่ท่านพยายามปกปิดอยู่เป็นแรมปี ๑๔

ขณะที่ภายในวัดเกิดความขัดแย้งขึ้นนั้น โครงการธรรมทายาท รุกคืบหน้าไปยังต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปตามชมรมพุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีเครือข่ายมากถึง ๕๐ สถาบัน ๑๕ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้วยผลงานและความสัมพันธ์ที่ทางวัดสร้างไว้ ได้อำนวยประโยชน์ให้พระธัมมชโยเลื่อนสมณศักดิ์ จากพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็น“พระสุธรรมยานเถร” และได้เลื่อนเป็นพระภาวนาวิริยคุณในปีถัดมา พอปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รองเจ้าอาวาสได้รับรางวัลเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา จากพระเทพรัตนราชสุดาสยาม-บรมราชกุมารี ๑๖ ขณะที่อะไรดูจะสดใสง่ายไปทุกอย่าง ก็เกิดข่าวอื้อฉาว กรณีนายสอง วัชรศรีโรจน์ ถูกตรวจสอบเรื่องปั่นหุ้น ว่ามีส่วนโยงใยกับวัดพระธรรมกาย๑๗

พอในปีต่อมา(๒๕๓๗) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้มอบปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่เจ้าอาวาส ๑๘ ซึ่งมีความโลภเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว ยิ่งทะยานอยากไม่รู้จักพอ จึงได้แสวงหาการยอมรับในแวดวงมหาวิทยาลัย โดยให้สมาชิกฆราวาสระดับแกนนำกลุ่มกัลยาณมิตรในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอชื่อเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาส ให้ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายมอบปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระภิกษุ ๑๙

ต่อมาในปี ๒๕๓๘ วัดพระธรรมกายได้ขยายฐานออกไปยังนานาชาติ จัดตั้งศูนย์กัลยาณมิตรที่โตเกียว ไต้หวัน และฮ่องกง ศูนย์เหล่านี้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกับที่ประเทศไทย ทั้งสอนสมาธิ จัดอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน โดยจัดส่งพระภิกษุและเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแล ๒๐ อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ยังขยายฐานต่อไปยังออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันวัดพระธรรมกายมีวัดสาขาในต่างประเทศจำนวน ๑๓ แห่ง ใน ๙ ประเทศ และมีศูนย์ถ่ายทอดเสียงการสอนปฏิบัติธรรม จากประเทศไทยผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เนต จำนวนเกือบ ๑๐๐ แห่งทั่วโลก ๒๑ และในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าอาวาสได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นราช จากพระภาวนาวิริยคุณ เป็น “พระราชภาวนาวิสุทธิ์” พอปีถัดมา(๒๕๓๙) ทางวัดได้จัดพิธีทอดกฐิน เป็นครั้งแรก พร้อมกันที่โตเกียว และไทเป เฉพาะที่โตเกียวแห่งเดียว วัดสามารถระดมสาธุชนได้ถึง ๔๐๐ คน ที่ไทเป มีคนร่วมงานราว ๕๐ คน ๒๒ ส่วนในด้านเมืองไทย วัดพระธรรมกายได้เปิดตัวโครงการมหาธรรมกายเจดีย์ มีการตอกเสาเข็ม เทฐานราก เร่งก่อสร้างให้เสร็จในปี ๒๕๔๓ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางวัดโหมระดมทุน เพื่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ โดยให้บริษัทดีเวิลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดูแลการผลิตพระมหาสิริราชธาตุ โดยผลิตออกมา ๔ รุ่นด้วยกัน กล่าวคือ รุ่นดูดทรัพย์ พระคะแนนสุดๆ พระคะแนนสุดฤทธิ์สุดเดช และพระมหาสิริราชธาตุ ตั้งเป้าไว้สำหรับพระธรรมกายประจำองค์เพลที่ ๑ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ มีตั้งแต่ราคา ๑๐,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับจะนำไปประดิษฐานบริเวณชั้นนอก ชั้นกลาง หรือชั้นในของเจดีย์ เมื่อจำหน่ายได้ตามเป้าหมาย ทางวัดจึงได้ปรับยอดการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น ๓๐๐,๐๐๐ องค์ ๗๐๐,๐๐๐ องค์ และ ๑,๐๐๐,๐๐๐ องค์ ตามลำดับ ๒๓


ท่าดีทีเหลว กระบวนการพิจารณาฝ่ายสงฆ์ และบ้านเมืองต่อกรณีธรรมกาย หรือจะเป็นไฟไหม้ฟาง

กระทั่งมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ วัดพระธรรมกายได้ออกโฆษณาชุด “ปาฏิหาริย์-อัศจรรย์ตะวันแก้ว” เพื่อระดมทุนสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ให้เสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นข่าวครึกโครมโหมสะพัดตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่ชาวพุทธ จนลุกฮือขึ้นมาร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลของวัดพระธรรมกาย เห็นได้จากโพลของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนขณะนั้น ในประเด็นคำถาม ข่าวทางพุทธศาสนาที่คาใจคนไทยมากที่สุด ปรากฏว่า ข่าววัดพระธรรมกาย ติดอันดับ ๑ คิดเป็น ๔๕.๙% ๒๔ ในจำนวน ๔ ข่าวคาว ในที่สุด คณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติตรวจสอบวัดพระธรรมกายเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑

ต่อมากรมการศาสนา ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบหนังสือของวัดพระธรรมกาย ตามคำสั่งที่ ๒๓๕/๒๕๔๑ จำนวน ๑๑๓ เล่ม มีข้อสรุปออกมา ๔ ประการด้วยกัน กล่าวคือ ๑.) การสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตา ผิดกับคำสอนในพระไตรปิฎก ๒.) เน้นอิทธิปาฏิหาริย์ หลอกคนให้เชื่อ ๓.) ทำการเรี่ยไรเงิน และ ๔.) สร้างพระพุทธรูปผิดจากพุทธศิลป์เดิม โดยอ้างว่า สร้างตามนิมิต ๒๕ หลังจากนั้น วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้พิจารณาปัญหาวัดพระธรรมกาย และมอบหมายให้พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค ๑ รับหน้าที่สอบสวน ๓ ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ เรื่องการโฆษณาวัตถุมงคล การก่อสร้างศาสนสถานใหญ่โต และการเรี่ยไรเงินทวนกระแสสังคม โดยกล่าวอ้างอิทธิปาฏิหาริย์ และให้เสนอผ่านเจ้าคณะหนใหญ่

ในช่วงนั้น กรมการศาสนา ดูจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายให้ลุล่วงไปด้วยดี มีการตั้งคณะทำงานหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึงกับโดดมากำกับ เข้าไปพบพระพรหมโมลีถึงที่วัด พร้อมกับชี้ชัดลงไปว่า การสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตาไม่ถูกต้อง ๒๖ พร้อมกับให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามมติของมหาเถรสมาคม ๔ แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ ๑.) ให้ตั้งสำนักวิปัสสนาปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาที่ถูกต้อง ๒.) ให้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม สอนให้เป็นระบบที่ถูกต้อง ๓.) เปลี่ยนคำสอนที่ว่านิพพานเป็นอัตตา และ ๔.) ให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศอย่างเคร่งครัด ๒๗

และในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานที่ปรึกษากรรมมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้นำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมมาก่อนหน้านั้น ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช พอในวันที่ ๕ มี.ค. ๔๒ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีรับสั่งให้นำเรื่องวัดพระธรรมกายเข้าพิจารณา และที่ประชุมมีมติออกมาให้เจ้าคณะภาค ๑ รับไปพิจารณา



ละเมิดพระลิขิตพระสังฆราช

ในการประชุมครั้งต่อมา มหาเถรสมาคมได้มีมติในที่ประชุมให้ดำเนินการตามแนวทางเดิม พร้อมกับมอบเอกสารข้อมูลต่างๆ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมไปศึกษาเพิ่มเติม ส่วนด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เพิ่มประเด็นการถือครองที่ดินของธัมมชโย เข้าในที่ประชุมมหาเถรสมาคม ในวันที่ ๑๙ มี.ค. ๔๒ แต่ที่ประชุมให้เลื่อนการพิจารณาออกไป โดยอ้างว่ากรรมการฯ บางรูปอ่านเอกสารไม่จบ ๒๘ ในที่สุดสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตออกมาว่า

“การโกงสมบัติผู้อื่น ตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป คือประมาณไม่ถึง ๓๐๐ บาทในปัจจุบัน ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ฐานผิดพระธรรมวินัย พ้นจากความเป็นพระทันที ในกรณีนี้ ไม่ว่าจะมีผู้รู้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการสั่งให้สึก ไม่ว่าจะมีการจับสึก หรือไม่ก็ตาม ภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้ ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ…”

ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้พิจารณาพระลิขิตฉบับนี้อย่างกว้างขวาง พร้อมกับมอบหมายให้พระพรหมโมลีดูแล ติดตามหนังสือตอบรับปฏิบัติตามของวัดพระธรรมกาย แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านี้ ในที่สุด สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิตออกมาอีกครั้ง เป็นฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๕ เม.ย. ๔๒ ว่า

“ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความเข้าใจ ความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธ-ศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก

ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ทันที”


แม้ว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิต ออกมาอีกฉบับก็ตาม ที่ประชุมมหาเถรสมาคมดู จะเฉยเมย เพียงมอบพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ให้กับเจ้าคณะภาค ๑ เท่านั้น และให้เจ้าคณะภาค ๑ รายงานเจ้าคณะหนกลางทราบ กระทั่งปลาย เดือนเมษายน ๔๒ วันที่ ๒๖ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิตออกมาเป็นฉบับที่ ๓ เพิ่มเติมจาก ฉบับก่อนว่า

“ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ ให้ ว่าในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติ ของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็น พระ ให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้ง ว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูก จัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระ ปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำ ความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ใน พระพุทธศาสนา”

หลังจากพระลิขิตฉบับนี้ออกมา มีการสร้างข่าวว่าเป็นพระลิขิตปลอม สร้างความสับสนให้แก่สังคม อีกทั้งการดำเนินการฝ่ายสงฆ์ก็ไม่มีความคืบหน้าจนสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตออกมาอีกว่า

“ในกรณีเกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย เราได้ทำหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชสมบูรณ์ตามอำนาจแล้ว จึงไม่มีอะไรจะพูดอีกขณะนี้

ขออนุโมทนาทุกท่านที่สนใจห่วงใยพระพุทธศาสนา แสดงความเป็นคนดี ด้วยมีกตัญญูกตเวทิตาธรรม”

และต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อารักขาสมเด็จพระ-สังฆราช ให้กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการศาสนา ดำเนินทุกวิถีทางเพื่อสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และให้กรมที่ดิน อำนวยความสะดวกแก่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในกรณีโอนที่ดิน ในชื่อเจ้าอาวาสเป็นของวัด และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเอง สมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตออก แจ้งให้แก่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ว่า

“ได้แจ้งให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนดีทั่วกันแล้วก่อนหน้านี้ ว่าในตำแหน่งผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ที่สุดแล้วตามอำนาจ

ท่านกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหลายจะทำอะไรต่อไปตามความต้องการ จะไม่มานั่งรับรู้รับฟังในที่ประชุมวันนี้ ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒”


พระลิขิตฉบับนี้เป็นฉบับที่สุดท้าย ที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ทำหน้าที่ของท่านในฐานะประมุขสงฆ์ ขณะที่ผองชนต่างเฝ้ารอคำพิจารณาจากที่ประชุมมหาเถรสมาคมว่า จะยุติปัญหาวัดพระธรรมกายลงได้ เมื่อมติมหาเถรสมาคมออกมาไม่ชัดเจน ต่อการดำเนินการกับวัดพระธรรมกาย จึงทำให้มหาชนที่เฝ้ารอผลพิจารณาของมหาเถรสมาคมไม่พอใจ จนพระธรรมปิฎก ได้ออกมาสัมภาษณ์ เตือนสติสังคมไทย และให้มหาเถรสมาคม แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย โดยคำนึงถึงพระธรรมวินัยเป็น

หลักหลังจากนั้นมาไม่กี่วัน ธัมมชโยได้ส่งตัวแทนนำโฉนดที่ดินจำนวน ๕ แปลง มาแสดงให้กรมการศาสนาตรวจสอบ เพื่อลดกระแสสังคมที่ร้อนแรงอยู่ในเวลานั้น แต่ก็ไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากเอกสารไม่ครบ ต่อมาตัวแทนธัมมชโยเข้าหารือกับกรมการศาสนา และกรมที่ดิน ยืนยันที่จะมอบที่ดินแก่วัดพระธรรมกายให้ครบ ภายใน ๗ วัน (๑๘–๒๕ พ.ค. ๔๒) ส่วนที่ดินแปลงอื่น ทางวัดอ้างว่าต้องปรึกษาผู้บริจาคก่อน และจะทำการโอนให้ภายใน ๓๐ พ.ค. ๔๒ พร้อมกันนั้น กรมการศาสนาได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย และคณะอนุกรรมการ อีก ๑ ชุด เพื่อพิจารณาเรื่องที่ดิน และพระธรรมวินัย ๒๙

ทางฝ่ายมหาเถรสมาคม เวลาล่วงเลยมาครึ่งค่อนปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ซ้ำยังพยายามตั้งอนุกรรมการขึ้นมา ทำหน้าที่ติดตามมติของมหาเถรสมาคม ส่วนกรมการศาสนา หลังจากตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายขึ้นมาแล้ว ได้มอบหมายให้ นายมาณพ พลไพรินทร์ ยื่นข้อกล่าวหาธัมมชโย อาบัติปาราชิก กรณีที่ดิน และบิดเบือนหลักพระธรรมคำสอน ให้มีการสอบสวนอธิกรณ์ แต่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมอ้างว่า ให้รอศาลสงฆ์พิจารณาก่อน ๓๐

ต่อมาวันที่ ๑ มิ.ย. ๔๒ ผู้แทนธัมมชโยแจ้งไม่ยอมโอนที่ดิน โดยให้เหตุผลว่า ต้องรอศาลสงฆ์ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ได้ข้อยุติก่อนจึงจะโอน จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่พอใจ มอบหมายให้กรมการศาสนาออกจดหมายถึงธัมมชโย ให้รีบโอนที่ดิน ๑,๗๔๗ ไร่ ๒ งาน ๘๗ ตาราวา ในเขตพื้นที่ ๑๕ จังหวัดคืนให้แก่วัดพระธรรมกาย ภายในวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๔๒ เมื่อถึงเวลากำหนด ธัมมชโยได้ให้ตัวแทนโอนที่ดินเพียง ๑๒ แปลง รวม ๓๐๔ ไร่ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี จันทบุรี และลพบุรี เท่านั้น จนในที่สุดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงสั่งให้ดำเนินคดีกับธัมมชโย ๓ ข้อหา คือ ๑.) แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ๒.) เป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ และ ๓.) เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ๓๑ ขณะเดียวกัน ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาอีก ๑ ชุด เพื่อติดตามกรณีที่ดินวัดพระธรรมกาย ส่วนมหาเถรสมาคมไม่ได้นำกรณีวัดพระธรรมกายมาพิจารณาในที่ประชุมในเดือนมิถุนายนแต่อย่างใด

จากการยื่นข้อกล่าวหาของนายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา ก่อนหน้านี้ ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อการพิจารณาของพระพรหมโมลีที่ว่า “ฆราวาสไม่สามารถฟ้องพระได้” กระทั่งในวันที่ ๑๕ ส.ค. ๔๒ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติออกมาอีกครั้งว่า “ฆราวาสสามารถฟ้องพระได้” และให้พระพรหมโมลี ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจนต่อที่ประชุมคราวหน้า

และต่อมาในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๒ ธัมมชโย เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนที่วัดชนะสงคราม ในคดีฉ้อโกง และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และได้รับประกันตัวไปในวงเงิน ๒ ล้านบาท ส่วนในด้านที่ประชุมมหาเถรสมาคม วันที่ ๒๓, ๒๕ ส.ค. และวันที่ ๑๔ ,๒๐ ก.ย. ๔๒ ก็ยังไม่ดำเนินการอะไรให้ก้าวไปกว่าที่แล้วมา มิหนำยังประวิงเวลา ด้วยการปรับปรุงมติของที่ประชุมบ้าง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอความเห็นบ้าง หรือมีการหยิบยกประเด็นอื่นขึ้นมาพิจารณาแทนเรื่องวัดพระธรรมกายบ้าง เป็นต้น

ส่วนภาคประชาชนขณะนั้น ได้มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ทำปัพพาชนียกรรมที่วัดสวนแก้ว รวบรวมรายชื่อถวายกำลังใจและสนับสนุนพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เล่นละครเตือนสติมหาเถรสมาคมที่วัดสระเกศ เปิดเวทีอภิปรายที่สนามหลวง ตลอดจนสัมมนาอภิปรายให้ความรู้กับประชาชน ตามวัด มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือแม้ในรัฐสภา ก็มีการจัดสัมมนา อภิปราย อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มต่างๆ ผุดขึ้นมาเคลื่อนไหว ประท้วงให้ดำเนินการกับธัมมชโยขั้นเด็ดขาด อาทิ กลุ่มธรรมาธิปไตย ชมรมพระเครื่อง กลุ่มแม่บ้านจังหวัดนครปฐม ตลอดจนคณาจารย์พิเศษ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตภาคเหนือ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ที่ออกมาแสดงจุดยืนของตน โดยลาออกจากการเป็นอาจารย์พิเศษ หากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดสวนดอก ไม่แสดงจุดยืนชัดเจนต่อเรื่องวัดพระธรรมกายในต้นเดือนตุลาคม

ส่วนด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากสอบสวนติดตามกรณีที่ดินมาระยะหนึ่ง ได้ยื่นสำนวนคดีให้อัยการสั่งฟ้องธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ๒ ข้อหาด้วยกัน กล่าวคือ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ในวันที่ ๓ ต.ค. ๔๒ แต่ธัมมชโยอ้างว่าไม่สบาย ไม่มามอบตัว อัยการจึงส่งแพทย์โรงพยาบาลตำรวจไปตรวจถึงที่วัด ปรากฏว่า อาการปกติ จึงได้นำธัมมชโยเข้ามอบตัวกับอัยการ

ต่อมาวันที่ ๑๙ ต.ค. ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้พิจารณาความเห็นของพระพรหมโมลีอีกครั้ง และมีมติออกมาว่า ฆราวาสฟ้องพระได้ และให้เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ทำหนังสือเรียกตัวธัมมชโยมารับฟังข้อกล่าวหาในวันที่ ๑๐ พ.ย. ๔๒ และอายัดบัญชีเงินฝากเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปรากฏว่า ธัมมชโยไม่ยอมมาพบ เพียงแต่ส่งตัวแทนนำหนังสือแจ้งปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่า อธิกรณ์ถึงที่สุดในวันที่ ๑๓ ส.ค. ๔๒ ที่ผ่านแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมารับฟังข้อกล่าวหาอีก พร้อมกันนั้น ธัมมชโยได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะตำบลคลองหลวง ขอลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสเพื่อพักรักษาตัว และเสนอให้พระเผด็จ ทตฺตชีโว รักษาการเจ้าอาวาสแทน แต่เจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะอำเภอคลองหลวง ไม่อนุญาตให้ลาออก เนื่องจากเห็นว่าจะทำความเสียหายแก่คณะสงฆ์ และการศึกษาของภิกษุสามเณร จึงได้ส่งหนังสือต่อไปยังเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีพิจารณา และเห็นว่า การกระทำของเจ้าคณะตำบลไม่ถูกต้อง ขัดกับกฎนิคหกรรม จึงได้ดำเนินการสั่งปลดเจ้าคณะตำบลออกจากตำแหน่ง

ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบหนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” และสอบประวัติ “ดร.เบญจ์ บาระกุล” อีกชุดหนึ่ง และในวันที่ ๑๒ พ.ย. ๔๒ เจ้าหน้าที่สอบสวนได้ยื่นฟ้องธัมมชโยต่ออัยการ อีก ๒ ข้อ คือยักยอกทรัพย์ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เกี่ยวกับการกว้านซื้อที่ดิน ๙๐๒ ไร่เศษ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นสาวกอีก ๓ คน ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เหตุการณ์วัดพระธรรมกายที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวฝ่ายต่างๆ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจบลงเมื่อไหร่ แม้จะมีวิญญูชนหลายท่าน คอยเตือนสติสำนักนี้มาอย่างแยบคาย และนมนานแล้วก็ตาม แต่ความวิปริตของเขาแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ จนมิจฉาทิฐิแสดงออกอย่างประจักษ์แจ้งแก่สาธารณชน ดังปรากฏเห็นได้ชัดในขณะนี้ และอดีตที่ผ่านมา ถึงกับละลาบละล้วงลามปามจาบจ้วงสมเด็จพระสังฆราช ฝ่าฝืนมติมหาเถรสมาคม โกหกหลอกลวงประชาชน นี้ยังไม่รวมไปถึงทำพระวินัยให้วิปริต และประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ซึ่งร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่าการจาบจ้วงสมเด็จพระสังฆราช และฝ่าฝืนมติมหาเถรสมาคม พฤติกรรมเช่นนี้ของเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาส รวมถึงบรรดาสาวกทั้งหลาย ซึ่งอ้างตนว่าดำรงอยู่ในสมณเพศ และอ้างตนว่ารักษาศีลอย่างเคร่งครัดนั้น เขาปฏิบัติกันเยี่ยงเดียรถีย์โดยไม่มีหิริโอตตัปปะกระนั้นหรือ..!

การดำรงตนอยู่ในสมณเพศนั้น นอกจากพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงวางหลักเกณฑ์ในการตัดสินธรรมและวินัย อีกว่า คำสอนไหนเป็นธรรมเป็นวินัยที่พระพุทธองค์ทรงสอน และคำสอนไหนไม่เป็นธรรมไม่เป็นวินัยที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสั่งสอน ซึ่งเราสามารถพิจารณาเทียบเคียงกันง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยจับเอาวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเป็นสำคัญ กล่าวคือ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด หมดเครื่องผูกรัดไม่พอกพูนกิเลส มักน้อย สันโดษ มีความสงัด ประกอบความเพียร และเพื่อความเลี้ยงง่าย ธรรมเหล่านั้น เป็นคำสอนของพระศาสดา สมณวิสัยของสาวกสงฆ์ และสมมติสงฆ์ในครั้งพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีวิถีปฏิบัติที่ชัดเจนเช่นนี้มาตลอด ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นพระสงฆ์นุ่งสบงทรงจีวรอย่างดี มีอาหารรสเลิศรับประทาน สะสมสมบัติพัสถาน อาคารที่ดินเป็นพันๆ ไร่ ตรงข้ามกับคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาแน่นอน ไม่ว่าจะมองในแง่ของหลักธรรมวินัย หรือมองในแง่ของการปกครองคณะสงฆ์ ก็ยิ่งห่างไกลออกไปจากความเป็นพระ แล้วจะให้ฆราวาสก้มลงกราบสนิทใจได้อย่างไร

ยิ่งในระยะหลัง ทางวัดพระธรรมกายได้ตอบโต้บุคคล และกลุ่มบุคคลที่วัดพระธรรมกายเห็นว่า เป็นศัตรูกับตน ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อมวลชนที่พากันประโคมข่าวคาวเจ้าอาวาส และมูลนิธิวัดพระธรรมกายอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ไม่พ้นที่จะถูกกล่าวหา ถ้าวัดพระธรรมกายมีสติพิจารณาให้รอบคอบ ย่อมเห็นที่มาที่ไปว่ามีควันต้องมีไฟเสมอ สื่อมวลชนก็ใช่ว่าจะกุข่าวขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีสาเหตุเอาเลย วิธีรุกเพื่อปกป้องความไม่ชอบมาพากลของตนให้พ้นผิด เข้าทำนองที่ว่าเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ผู้อื่น กล่าวหาสื่อมวลชนว่า หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ(ยกเว้น นสพ.พิมพ์ไทย)ลงข่าวเหมือนกันอย่างกับลอกกันมาและหาความจริงไม่ได้ ที่ร้ายไปกว่านั้น การสำแดงพลังด้วยการเกณฑ์พระเณรและฆราวาสที่เป็นสาวกมามากมาย รวมทั้งจัดทำเอกสารบิดเบือนข้อมูลเพื่อปกปิดความชั่วของตน จนสังคมเอือมระอานั้น เป็นการประจานตนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้ฉลาดเขาไม่ทำกัน กรณีปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องเงินๆ ทองๆ ของมูลนิธิธรรมกายและเจ้าอาวาส เสมือนวัวพันหลักที่ผูกรัดตัวเองแน่นหนา ตำรวจยิ่งสืบสาวก้าวไป ยิ่งเห็นโยงใยกันเป็นขบวนการใหญ่โต การกล่าวร้ายป้ายสีผู้อื่นว่า มีบุคคล และกลุ่มบุคคล คอยจ้องทำลายพุทธศาสนานั้น พฤติกรรมของวัดพระธรรมกายในห้วงเวลาที่ผ่านมา ย่อมเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า
ใคร..ที่เป็นมารร้ายทำลายพระพุทธศาสนา ....




เชิงอรรถ
--------------------------------------------------------------------------------

๑อ้างใน รายงานกรณีธรรมกาย ของคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร น. ๗๒
๒มติชน ๔ มี.ค. ๔๒ น. ๒๓
๓อ้างใน หนังสือ “ธรรมทายาท” เล่ม ๑ จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสตร์ ๗ สถาบัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๖ น. ๘๙
๔อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล “ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย” วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ ๕, ฉบับ ๑ ม.ค.- เม.ย. ๔๑ น. ๓๐
๕ผู้จัดการรายสัปดาห์ ๑๕ - ๒๑ ส.ค. ๒๕๓๑ น. ๑๑
๖“๑๙ สุดยอดการตลาด” น. ๓๔๔
๗อ้างใน รายงานกรณีธรรมกาย ของคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร น. ๗๓
๘อ้างแล้วในเล่มเดียวกัน น. ๖๓
๙อ้างแล้วในเล่มเดียวกัน น. ๖๓, ๖๔ และดูรายละเอียดในข้อ ๓.๑ เล่มเดียวกัน น. ๗๒, ๗๓
๑๐อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๔๙
๑๑อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๔๘
๑๒ผู้จัดการรายสัปดาห์ ๑๕ - ๒๑ ส.ค. ๓๑ น. ๑๑
๑๓อ้างในหนังสือ แฟ้มคดีธรรมกาย น. ๔๑
๑๔อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๓๔
๑๕อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๔๓
๑๖อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๓๔
๑๗อ้างใน แฟ้มคดีธรรมกาย น. ๒๑
๑๘อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๑
๑๙อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๒
๒๐อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๑
๒๑อ้างใน เจาะลึกวัดพระธรรมกาย น. ๔๕
๒๒อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๑
๒๓อ้างใน แฟ้มคดีธรรมกาย น. ๑๕๗
๒๔มติชน ๑ มี.ค. ๔๒
๒๕สรุปความเป็นมา เกี่ยวกับการดำเนินงานกรณี วัดพระธรรมกาย ของกรมการศาสนา มติชน ๗ มิ.ย. ๔๒
๒๖อ้างแล้วใน ๒๕
๒๗อ้างแล้วใน ๒๕
๒๘อ้างแล้วใน ๒๕
๒๙มติชน ๑ มี.ค. ๔๒
๓๐อ้างแล้วใน ๒๙
๓๑มติชน ๑๒ มิ.ย. ๔๒

Friday, April 15, 2005

Between Faith and Fund-Raising / Asiaweek

SEPTEMBER 17, 1999 VOL. 25 NO. 37


Between Faith and Fund-Raising
A controversial temple provokes soul-searching in Thailand
By JULIAN GEARING Bangkok
http://www.asiaweek.com/asiaweek/magazine/99/0917/thailand.html

An estimated 100,000 followers pray at the massive Dhammakaya Temple outside Bangkok Yvan Cohen for Asiaweek

Never has a monk been under so glaring a spotlight. Blinking as the flash of cameras hit his eyes, Abbot Dhammachayo ran a gauntlet of photographers and TV reporters last month to give himself up to police. Thousands of the Buddhist monk's followers had erected barricades around his vast Dhammakaya Temple outside Bangkok. After a two-day stand-off, Dhammachayo agreed to answer questions about alleged fraud, embezzlement and corruption charges against him. The abbot, who paid bail of $54,000, now awaits word on whether he will be indicted. The police say they will present their findings to prosecutors any day now.

A criminal or a visionary? The press has been reveling in sordid tales of Dhammachayo's alleged misappropriation of 600 hectares of donated land and his supposed love affairs with female followers. The 55-year-old abbot denies all the charges. He is backed by hundreds of thousands of mostly middle-class and educated devotees who are convinced that Dhammachayo is helping them on the path to inner peace and a sense of community sadly lacking in their busy lives. "Why do they attack the abbot?" asks a tearful woman worshipper. "He has done nothing wrong. Please report truthfully what they are doing to our abbot."

The controversy speaks volumes about the state of Thai Buddhism, the religion followed by 90% of the country's population. Outspoken Buddhist scholar and social critic Sulak Sivaraksa calls for reforms of the Sangha Council, the monks' governing body, which he says should have never allowed the situation to come to this pass. "Buddhism has become mere form," he complains. "Buddhism for Thais nowadays has become a kind of superstition." He criticizes Dhammakaya Temple for promoting greed "through its emphasis on merit and promises of wealth." In his weekly sermons, Dhammachayo continues to promise a prosperous life for those who give generously to the temple.

Not that Thailand's 30,000 other temples do not accept donations. Fortune-telling and the dispensing of lucky numbers and amulets - for a fee - are common. Dhammakaya Temple differs from them in its teachings. Dhammachayo "interprets Theravada Buddhism in a way we cannot accept, in which there is a material self at Nirvana [paradise], rather than a non-self," says Tavivat Puntarigvivat, a lecturer at Mahidol University. Critics also worry that, in making meditation more accessible to the masses, the abbot has simplified it to the point that it no longer includes complicated Buddhist dhamma, or teachings.

The abbot's unabashed calls for millions of baht in donations, even during the depth of the economic crisis, have not won him many friends among traditionalists. A few families virtually bankrupted themselves after a husband or wife handed over life savings. The temple's fund-raising techniques are sophisticated. Stands in the hangar-like prayer hall sell amulets, mini-crystal balls, books and tapes. Devotees are encouraged to buy small statues of the Buddha for placement in the temple's chedi (stupa) for $540. Monks preach that the generous will get their money back ten-fold - 10,000 baht could beget 100,000 baht.

Dhammachayo says the money does not go into his pockets but is spent on the temple. The facility stands in stark contrast to others not only in size but also in amenities. The buildings and grounds are neat and clean. No ragged dogs run around. Worshippers are served a free lunch. When the 316-hectare Dhammakaya complex is completed in February, it will be the world's largest Buddhist temple. The abbot envisions mass meditation sessions that would harness the spiritual concentration of 1 million people to fight Mara, the ruler of the evil universe.

Such visions have some critics crying "cult." Dhammachayo denies it. His supporters, many of them influential members of the community, counter that the abbot is the victim of the keepers of the status quo - traditional monks, academics, amulet sellers, businessmen, politicians and media barons. "It's the new against the old," says businessman Manit Rattanasuwan, an adviser to the abbot. "People think Buddhists should be very solemn. But this is the new millennium. We should adapt to the next hundred years." The temple, he says, provides the "church-like" community that Dhammachayo's followers desire.

Misgivings among the old guard have been bubbling for several years. The last straw was a widely publicized apparition at the temple last October. Devotees say they saw the sun turn into a crystal ball encompassing Dhammakaya founder Luang Phor Sodh during a mass gathering. The temple heavily advertised the claims in the newspapers. Then stories about Dhammachayo's alleged monastic and temporal shortcomings began to surface. The Sangha Council told Dhammachayo to correct his teachings on nirvana and return to traditional meditation techniques, among other things. The abbot says he has accepted the recommendations, though nothing much has changed in the way his temple operates.

That is why the Sangha is under fire too. To begin with, says Dhammachayo's opponents, the council should have cracked the whip much earlier (the temple was established in 1969). When it finally acted last year, the proceedings sometimes verged on the farcical. At one point, the body's Supreme Patriarch wrote a letter that said false teachings and embezzlement of temple property were grounds for automatic and immediate disrobement. The letter did not name Dhammachayo or his temple, but to the media, which got hold of the document, the accusation was clear enough. Dhammachayo says he never received the letter. The council, whose geriatric membership has been accused of incompetence, did not act on the Patriarch's opinion.

But changes are in the air. New legislation will give the Religious Affairs Department a stronger hand in dealing with the monastic community. Stiffer rules governing monks and donation solicitations are also in the works. "There is talk of reform within the council," says the Venerable Sripariyattimoli, assistant abbot of Chandaram Temple. The reformers face a hard slog. Says Western monk Santikaro Bhikkhu: "As long as leading monks own Mercedes-Benzes and have million-baht accounts, as long as selling amulets and lottery numbers is common, as long as merit-making is marketed for the sake of getting rich, and as long as monastic titles and positions can be purchased, Thai society will be corrupted by the get-rich-quick mentality." How the Dhammachayo case is resolved will determine the course of Thai Buddhism in the 21st century.