Dhammakaya FactSheet - ธรรมกาย

Dhammakaya and their wrong teachings!!! -Articles, Interviews & Newsclips -

Name:
Location: Bangkok, Thailand

The reason I've made this blog is because Dhammakaya is a cult, exploting Buddhism concept... Don't fall into their traps! Seek the right path, which is a real Buddha's way... ok? That's my warning.. :-)

Saturday, April 16, 2005

เพื่อความเข้าใจกรณีวัดพระธรรมกาย- โดย สมเกียรติ มีธรรม

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๔๓
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๓

http://www.skyd.org/html/sekhi/43/understand-DMK.html
--------------------------------------------------------------------------------
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม พร้อมบทวิเคราะห์ และแก้ข้อกล่าวหา เรื่องขบวนการล้มพุทธ
ในหนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” และ “พุทธศาสนาชะตาของชาติ” ซึ่งเขียนโดยผู้ใช้นามว่า ดร.เบญจ์ บาระกุล
--------------------------------------------------------------------------------

ธุดงคสถาน ปฐมฐานของความขัดแย้งที่ดิน - สีกา

อันที่จริงปัญหาวัดพระธรรมกาย ไม่ได้เกิดจากความอิจฉาริษยา หรือความจงเกลียดจงชังจากกลุ่มบุคคลใด กลุ่มบุคคลหนึ่ง ดังที่วัดพระธรรมกายมักยกมากล่าวอ้างเสมอว่ามีขบวนการล้มพุทธ ทำกันเป็นระบบ เป็นขบวนการและรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศเข้ามาเพื่อทำลายพระพุทธศาสนา

หากแต่ปัญหาของวัดพระธรรมกาย ถ้าพินิจพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ ก็จะเห็นว่า เกิดจากมิจฉาทิฐิของพระและฆราวาส ที่เกาะกลุ่มกันเป็นแก๊งอยู่ในวัด จนเป็นเหตุให้ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย และทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ตลอดจนถึงการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ และทำธุรกิจอีกหลายด้าน ทั้ง ๆ ที่ผ่านมามีผู้ปราถนาดีหลายท่าน เขียนหนังสือ และบทความ ออกมาทักท้วงตักเตือนอย่างต่อเนื่อง อาทิ หนังสือ “สวนโมกข์– ธรรมกาย–สันติอโศก” น.๕๕ ของนายแพทย์ประเวศ วะสี เขียนเตือนไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ว่า

“ธรรมกาย” ในส่วนที่เป็นองค์กรจัดตั้งนั้น ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ มีพลังรุกได้รวดเร็ว ข้อเสียคือ ๑.) ต้องใช้เงินมาก ๒.) หลักธรรมแคบ ๓.) มีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และคอรัปชั่นในอนาคต”

นอกจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวกรณีที่ดินกับชาวนารอบวัด มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์ซอยสวนพลู ฉบับวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑ หน้า ๙ ว่า

“สำหรับผมเอง เห็นว่า วัดธรรมกายมีสภาพห่างไกลจากวัดที่เรารู้จักออกไปมาก เพราะมีแผนการค้าอย่างทันสมัย เช่นเดียวกับองค์การค้าร้านค้าอื่นๆ กล่าวคือ มีสินค้าที่จะขาย ได้แก่ การทำสมาธิ แล้วก็มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้คนมาซื้อสินค้านั้น ซึ่งก็ได้ผลดีมาก การขายสินค้านั้นก็ทำด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด เพราะมิได้เก็บเงินค่าทำสมาธิจากผู้ที่ไปเข้าวัดอย่างตรงไปตรงมา แต่ทำในรูปทอดผ้าป่า…”

ถ้านับถอยหลังไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวัดพระธรรมกายเป็นต้นมา(ปี ๒๕๒๐) พฤติกรรมตามที่นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวไว้ มีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ทั้งในแง่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อระดมทุน และความขัดแย้งภายในวัด นับแต่ตั้งชื่อวัด(ปี พ.ศ. ๒๕๒๔)ตามชื่อผู้บริจาคที่ดินจำนวน ๑๙๖ ไร่ ว่า “วัดวรณีย์ธรรมกายาราม” และเปลี่ยนมาเป็น “วัดพระธรรมกาย” ในปีเดียวกัน อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงด้านความคิด เกี่ยวกับการสร้างวัด ซึ่งอาจารย์วรณีย์ ต้องการให้สร้างวัดตามประเพณีนิยมแบบไทยๆ แต่พระธัมมชโยไม่เห็นด้วย และขัดขวางกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง อาจารย์วรณีไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินยกให้เป็นของวัดเรียบร้อยแล้ว แต่มาถึงขั้นมีการทะเลาะแตกหักกับพระธัมมชโย และพระธัมมชโยได้สั่งตัดคำ “วรณีย์” ออกจากชื่อของวัด ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัม-ภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ว่า

“พ่อของนางสาววรณีย์เป็นลุงตน ได้รับมรดกมาจากป้า เมื่อจบการศึกษาจากต่างประเทศก็มาสอนที่วัดชนะสงคราม ได้เงินเดือนๆละ ๓,๐๐๐ บาท เมื่อคุณป้าคือ คุณหญิงหยด และคุณหญิงย้อย บอกให้นำเงินเดือนไปถวายพระ และด้วยความเลื่อมใสหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เมื่อลูกศิษย์ต้องการขยายวัดก็ได้มาชวน จึงได้บริจาคที่ดิน ๑๙๓ ไร่ให้ไป ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อในตอนแรกว่าวัดวรณีย์ธรรมกายารามจากนั้นไม่นาน มีข่าวว่านางสาววรณีย์จะนำเงิน ๕ ล้านบาทไปถวายหลวงพ่อลิงดำ ทำให้ลูกศิษย์หลวงพ่อสด ๒ องค์นี้ไม่พอใจ เมื่อวันเปิดตัววัดใหม่ ก็ไม่ได้เชิญนางสาววรณีย์ สุดท้ายญาติผู้พี่ของตนจึงได้นำเงินไปบริจาคให้วัดปากน้ำ สร้างศาลาหินอ่อนเพื่อนั่งสมาธิ ตั้งแต่นั้น วัดพระธรรมกายและคุณพี่วรณีย์ก็ขาดกัน และขอให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ มีการใช้ชื่อธรรมกายมาจนถึงทุกวันนี้..”

โดยก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ได้จัดอบรมเป็นระยะๆ โครงการที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น ก็คือ โครงการอบรมศาสนทายาท และอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน เป็นโครงการแรกที่จัดขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๕ ในการอบรมรุ่นแรก มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ารับการอบรม ๖๐ คน ได้ผ่านขั้นตอนการอบรมธรรมทายาทอย่างทรหด อดทน ด้วยการสมาทานศีล ๘ อยู่กลด เอาชนะใจตนเองด้วยการฝึกสมาธิให้ใจหยุด ใจนิ่ง ในสภาพความเป็นอยู่ที่ปราศจากเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน ท่ามกลางคูน้ำและคันดินที่เพิ่งถูกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ จากสภาพท้องนาอันแห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีศาลาปฏิบัติธรรม ไม่มีโรงทานและเรือนไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ธรรมทายาทที่ผ่านการอบรมรุ่นแรกนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า “ธรรมทายาทรุ่นทนทายาด” นี่คือสัญญาณแห่งความวิปลาส ซึ่งจะนำไปสู่ความวิบัติ อันเกิดจากการกระทำของวัดพระธรรมกายเอง ที่พยายามหล่อหลอมอุดมการณ์แบบธรรมกายแก่ผู้เข้ารับการอบรม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ทางวัดได้เสนอแผนการขยายพื้นที่วัดออกไปอีก ๖,๐๐๐ ไร่ ในนามโครงการสร้างสวนป่าชานเมือง สำหรับธุดงค์มหาชน มีการนำเสนอโครงการนี้ต่อรัฐบาลผ่านทางอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ซึ่งเป็นสมาชิกที่แข็งขันผู้หนึ่ง โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในรูปกองทุน อย่างไรก็ตาม แผนนี้ถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทางวัดจึงได้หาแนวทางระดมทุนใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ออกไป โดยได้จัดซื้อที่ดินจากกองมรดกของ มรว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ในราคาไร่ละ ๒๐,๐๐๐ บาท เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นที่มาของข้อพิพาทระหว่างวัดพระธรรมกายกับชาวนา จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ทางวัดพระธรรมกาย ได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีความเป็นระบบแบบแผนยิ่งขึ้น โดยแบ่งสายงานออกเป็น ๓ ฝ่ายใหญ่ คือ ฝ่ายบริหารงานบุคคล ฝ่ายจัดหากองทุน และฝ่ายเผยแพร่ธรรมะ ขณะเดียวกันได้จัดทำโครงการชักชวนประชาชนเข้าวัด โดยกำหนดเป้าหมายไว้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ว่าต้องชักชวนคนเข้าวัดให้ได้ถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน และเพิ่มสูงขึ้นในปีถัดมาและในระยะนี้เอง เริ่มมีสีกาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเจ้าอาวาส ดังคำให้สัมภาษณ์ของพระอดิศักดิ์ วิริยสกฺโก ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า

“อาตมาในฐานะเป็นผู้คลุกคลีในการบริหาร มีความรู้สึกว่า บางครั้งการกระทำของเจ้าอาวาส เป็นไปด้วยอารมณ์มากกว่าเป็นไปด้วยเจตนารมณ์ร่วมกัน เริ่มเมื่อสร้างวัดเสร็จประมาณปี ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘ ตอนนั้นเจ้าอาวาสเริ่มเปลี่ยนไป ไม่อยู่วัด เริ่มลับๆล่อๆไปอยู่เชียงใหม่ ถ้ามีงานจึงจะกลับมาสักครั้ง อยู่เชียงใหม่จะพาเศรษฐีทั้งหลายที่บริจาคให้กับวัดไปปฏิบัติธรรม ข้ออ้างของท่านคือบรรยากาศในวัดธรรมกายไม่สงบ เสร็จแล้วอาตมามองดูว่ามันเลยเถิด เช่น ท่านกล่าวชมสีกาต่างๆ สำนวนกล่าวชม เป็นลักษณะชายหนุ่มชมหญิงสาว มากกว่าที่จะเป็นความเมตตาของครูบาอาจารย์ อาตมาได้ยินด้วยตนเอง ยกตัวอย่าง ชมโยมผู้หญิงว่า “แหม! สวยจังเลย แก้มยุ้ย ติ่งหูสวย” ถ้าเป็นปรกติอาตมาจะเตือน แต่เมื่อถึงจุดที่สภาวะเจ้าอาวาสมีอิทธิพลสูง ไม่ใช่อาตมาจะตักเตือนได้ เป็นสภาวะที่ทุกอย่างเป็นคำสั่งของเจ้าอาวาส…”

ซึ่งถ้าพิจารณาจากคำสัมภาษณ์ของพระอดิศักดิ์ วิริยสกฺโก ขณะที่พำนักอยู่วัดพระธรรมกาย จะเห็นได้ว่า บรรยกาศภายในวัด เริ่มตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล เขียนไว้ว่า ในยุคนี้ แม้จะมีความเป็นระบบแบบแผนมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินใจ ไม่ได้เป็นไปในเชิงกระจายอำนาจ ทำให้เกิดความลักลั่น และเปิดโอกาสให้คนบางส่วนใช้ช่องว่างดังกล่าวสร้าง “กลุ่ม” หรือแนวร่วมของตนเพื่อขวางอีกคนหนึ่ง หรืออีกกลุ่มหนึ่ง


ศูนย์กลางธรรมกายสากล ศูนย์กลางการค้าบุญระดับโลก

กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และ ๒๕๒๙ เมื่อทางวัดจัดซื้อที่ดิน จำนวน ๒,๐๐๐ ไร่ ได้สำเร็จ เพื่อสานฝันในโครงการศูนย์กลางธรรมกายสากลแห่งโลก ทำให้ความขัดแย้งกับชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มีอยู่เดิมรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผู้เช่าที่จากเจ้าของที่ที่ขายให้แก่วัด จนชาวบ้านบางส่วนประมาณ ๓๐ คนได้เข้าร้องทุกข์ต่อกองปราบปราม กล่าวหาพระธัมมชโย พระทัตตชีโว พระปลัดสุธรรม สุธมฺโม นายสุนทร ศรีรัตนา และนายผ่อง เล่งอี้ รวมทั้งสิ้น ๕ ข้อหา เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๘ นอกจากนั้น ในปีเดียวกัน(๒๕๒๘) พระภาวนาวิริยคุณ รองเจ้าอาวาส เป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในภาคปฏิบัติ เป็นผู้รับคำสั่งจากพระธัมมชโยไปปฏิบัติ ใช้อำนาจและความยิ่งใหญ่อันไม่ชอบธรรมข่มขู่กดขี่ คิดค้นกโลบาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ทางวัดธรรมกายต้องการให้ที่ดินของวัด ๒,๐๐๐ กว่าไร่เชื่อมเป็นผืนเดียวกัน แต่เจ้าของโรงเรียนอนุบาลแสงเทียนไม่ยอมขายให้ เพราะเป็นห่วงการศึกษาของเด็กในพื้นที่ พระเผด็จ ทตฺตชีโว ได้วางแผนใช้หน่วยพิทักษ์ป่าที่มาอบรมภายในวัดก่อนบรรจุเป็นข้าราชการ ให้ทำการนานัปการเพื่อบีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ยังไม่ได้ผล จนในที่สุด พระทัตตชีโว ได้มีคำสั่งเด็ดขาดให้หน่วยพิทักษ์ป่ากลุ่มหนึ่ง ใช้กำลังข่มขืนบุตรสาวเจ้าของโรงเรียน จนเจ้าของตัดสินใจขายให้ทางวัดในวันรุ่งขึ้น

เมื่อทางวัดสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้สำเร็จ ในปีถัดมา(๒๕๒๙) มูลนิธิธรรมกาย จึงจัดส่งพิมพ์เขียวของแผนการตลาด เพื่อโปรโมต “สินค้า” (การทำบุญให้กลายเป็นสินค้า) ดังกล่าวเข้าประกวดใน “โครงการสุดยอดแผนการตลาด” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย และได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน ๑๙ สุดยอดแผนการตลาดประจำปีนั้น ๑๐ ซึ่งสามารถชักชวนคนเข้าวัดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ และเป็นช่วงที่วัดพระธรรมกายได้ระดมทุนสร้างฝัน โครงการศูนย์กลางธรรมกายสากลแห่งโลก อย่างเข้มข้น จน น.พ.ประเวศ วะสี เขียนหนังสือ สวนโมกข์–ธรรมกาย–สันติอโศก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เสนอแนะให้วัดพระธรรมกายพิจารณาตนเอง ๓ ประการ ด้วยกัน กล่าวคือ

๑. “ธรรมกาย” ไม่ควรชูเรื่อง “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า” เพราะจะทำให้ต้องไม่ทะเลาะกับคนจำนวนมาก ในทางทฤษฎี ควรขยายการสอนธรรมะให้ครอบคลุมพุทธธรรมโดยกว้างขวาง และขยายเรื่องทางปัญญาให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะเป็นช่องโหว่เรื้อรังหรือถาวร

๒. อย่าชู “ธรรมกาย” ให้เป็นเอกเทศ และดูเหมือน ไปบุกรุกเบียดพุทธอื่นๆ จะก่อความขัดแย้ง ซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับมาหาตัว ควรชูพุทธเป็นส่วนรวม

๓. ลดภาพพจน์ในความต้องการทางการเงินลง ควรจะดำเนินการในทางที่ไม่ต้องใช้เงินมากนัก โดยการกระจายยิ่งกว่าการที่จะกระจุกให้ใหญ่ และแพงเพิ่มขึ้นอีกต่อไปเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนน์ชีพอยู่ ขบวนการของพระองค์ก็ใหญ่โตน่าดู น่าศึกษาว่าพุทธองค์จัดตั้งอย่างไร จึงได้ผลดีแต่พระพุทธเจ้าคงจะรับสั่งไม่ได้ว่า “ถ้าไม่ได้เดือนละ ๑๕ ล้าน เราอยู่ไม่ได้”

ในปีต่อมา(๒๕๓๑) ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งกับชาวนารอบวัดรุนแรงขึ้น มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนบทความโจมตีการใช้เงินซื้อที่ดินของวัดพระธรรมกาย ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์ซอยสวนพลู วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๑ น. ๙ อย่างรุนแรงว่า

“ผมเห็นว่า การที่วัดเรี่ยไรเงินจากอุบาสกอุบาสิกา เพื่อไปซื้อที่เป็นจำนวนถึง ๒,๐๐๐ ไร่นั้น เป็นการหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างแน่นอน และเมื่อคำนึงว่า วัดธรรมกายในขณะนี้ มีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โต และตกแต่งเป็นระเบียบสวยงามอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้นึกว่า การเพิ่มบริเวณออกไปถึง ๒,๐๐๐ ไร่นั้น เป็นการเกินความจำเป็นจริงๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะมิให้คิดเช่นนั้นได้ แสดงให้เห็นว่า ใครก็ตาม ที่เป็นผู้วางแผนการพัฒนาของวัดธรรมกายนั้น เป็นผู้ที่ฟุ้งเฟ้อไม่มีประมาณ ถ้าหากเป็นพระ ก็เป็นพระที่ขาดสมณสารูปเอามากทีเดียว”


ธุรกิจผู้ทำบุญ กับกลุ่มกัลยาณมิตร

แต่กระนั้นก็ตาม วัดพระธรรมกายกลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ในปีเดียวกัน อันเป็นยุคทองของธุรกิจที่ดิน มูลนิธิธรรมกายถึงกับกระโดดลงมาทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เอง มีโครงการบ้านจัดสรร และที่ดินอื่นๆ เกิดขึ้นมามากมาย ไปจนถึงบ้านพักให้เช่า ขายหนังสือ เสื้อผ้า ของที่ระลึก เทป และอุปกรณ์นั่งกลด ซึ่งประทับสัญลักษณ์ธรรมกาย เพื่อขายให้แก่บรรดาสาวกทั้งหลายที่ไปร่วมปฏิบัติธรรม

บริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจในด้านนี้ ได้แก่ บริษัทดูแวค มีทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ประกอบธุรกิจพัฒนาที่ดิน บริษัทดีเวิลด์ มีทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ทำโครงการตะวันธรรม ประกอบธุรกิจพัฒนาที่ดิน บริษัทเอพริล ทุนจดทะเบียน ๓ ล้านบาท รับสัมปทานให้เช่าบ้านพักบนภูกระดึง จากกระทรวงเกษตรฯ ๓๐ ปี บริษัทดอกหญ้า ทุนจดทะเบียน ๕ แสนบาท บริษัทบ้านหนูแก้ว ประกอบธุรกิจขายหนังสือ เสื้อผ้า ของที่ระลึก บริษัทบัวบานการเกษตร ทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ทำโครงการตะวันทอง ประกอบธุรกิจพัฒนาที่ดิน บริษัทเมืองแก้วมณี ประกอบธุรกิจ โครงการอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียมและอาพาร์ตเมนต์ บริษัทยูทาวน์ ทุนจดทะเบียน ๑๐ ล้านบาท ทำโครงการรัตนปุระ บริษัทดีวีเอ็น ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร ในนามโครงการวิภาวันวิลล่า และบริษัทธรรมกิจนิเวศน์ ทำโครงการกิจนิเวศน์ ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร ๑๑ นอกจากนั้น ยังมี กลุ่มกัลยาณมิตร ทำหน้าที่ออกไปบอกบุญจากธรรมทายาทที่ร่วมนั่งปฏิบัติธรรม เพื่อนำเงินมาสร้างลานธุงคสถานให้ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น บอกบุญถวายผ้าป่า จัดสถานที่รับบริจาค เพื่อร่วมสร้างลานธุดงคสถาน และจัดพิมพ์วารสารกัลยาณมิตรแจกจ่ายไปยังสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างและจรรโลงพุทธศาสนา และเพื่อสนองตอบความต้องการของสมาชิกที่ต้องการนิพพาน ซึ่งทางวัดได้กำหนดการรับบริจาคปัจจัยว่า เป็นกองทุนหนังสือกัลยาณมิตรเพื่อหลวงพ่อธัมมชโย โดยแบ่งจุดรับบริจาคไว้ดังนี้ คือ ๑.ในงานวันกฐิน หรือวันสำคัญทางศาสนา มีจุดรับบริจาคที่วัดพระ-ธรรมกาย ๑๕ จุด ๒.วันอาทิตย์ รับบริจาค ณ วัดพระธรรมกาย มี ๕ จุดตามป้ายประกาศ ๓.วันธรรมดา จันทร์–เสาร์ จะเปิดรับบริจาค ณ สำนักงานกัลยาณมิตร อาคารสมาคมศิษย์เก่า มหา-วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ๔. ธนาณัติ ส่งไปที่วัดพระธรรมกาย ๑๒


เงิน-อำนาจ-อุดมการณ์ของธัมมชโย

และต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ทางวัดพระธรรมกายได้จัดโครงสร้างการทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การผลักดันของพระมโน เมตฺตานนฺโท มีการออกระเบียบ ประกาศ และขัอบังคับต่างๆ ให้กระจายอำนาจมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ อำนาจก็ยังกระจุกตัวอยู่กับเจ้าอาวาส ทำให้เกิดความขัดแย้งส่วนบุคคลในระดับสูงขององค์กร จนท่านเมตตานันโทภิกขุต้องจรลีไปอาศัยอยู่วัดราชโอรสาราม เนื่องจากเกิดการแข่งขันกันทำงานให้เป็นที่โปรดปราน และได้ใกล้ชิดตัวเจ้าอาวาส(ซึ่งถูกสร้างภาพให้เป็นบุคคลพิเศษ) จนก่อให้เกิดความอึดอัด และตึงเครียดทางจิตใจ เป็นเหตุให้บางคนต้องลาออกไป แต่ก็มีบางรายที่ลงเอยด้วยโศกนาฏกรรม พระภิกษุรูปหนึ่ง(พระชิตชัย มหาชิโต) ๑๓ ที่เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งวัดมาตั้งแต่ต้น ได้ชื่อว่าอุทิศตนอย่างสุดจิตสุดใจ และเป็นที่รักเคารพยิ่งของชาวธรรมกายมรณภาพลงในวัด ด้วยการฆ่าตัวตาย หลังจากทุกข์ทรมานด้วยอาการเครียดของโรค Schizophrenia อย่างแรงที่ท่านพยายามปกปิดอยู่เป็นแรมปี ๑๔

ขณะที่ภายในวัดเกิดความขัดแย้งขึ้นนั้น โครงการธรรมทายาท รุกคืบหน้าไปยังต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปตามชมรมพุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีเครือข่ายมากถึง ๕๐ สถาบัน ๑๕ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้วยผลงานและความสัมพันธ์ที่ทางวัดสร้างไว้ ได้อำนวยประโยชน์ให้พระธัมมชโยเลื่อนสมณศักดิ์ จากพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็น“พระสุธรรมยานเถร” และได้เลื่อนเป็นพระภาวนาวิริยคุณในปีถัดมา พอปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รองเจ้าอาวาสได้รับรางวัลเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา จากพระเทพรัตนราชสุดาสยาม-บรมราชกุมารี ๑๖ ขณะที่อะไรดูจะสดใสง่ายไปทุกอย่าง ก็เกิดข่าวอื้อฉาว กรณีนายสอง วัชรศรีโรจน์ ถูกตรวจสอบเรื่องปั่นหุ้น ว่ามีส่วนโยงใยกับวัดพระธรรมกาย๑๗

พอในปีต่อมา(๒๕๓๗) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้มอบปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่เจ้าอาวาส ๑๘ ซึ่งมีความโลภเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว ยิ่งทะยานอยากไม่รู้จักพอ จึงได้แสวงหาการยอมรับในแวดวงมหาวิทยาลัย โดยให้สมาชิกฆราวาสระดับแกนนำกลุ่มกัลยาณมิตรในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอชื่อเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาส ให้ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายมอบปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระภิกษุ ๑๙

ต่อมาในปี ๒๕๓๘ วัดพระธรรมกายได้ขยายฐานออกไปยังนานาชาติ จัดตั้งศูนย์กัลยาณมิตรที่โตเกียว ไต้หวัน และฮ่องกง ศูนย์เหล่านี้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกับที่ประเทศไทย ทั้งสอนสมาธิ จัดอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน โดยจัดส่งพระภิกษุและเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแล ๒๐ อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ยังขยายฐานต่อไปยังออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันวัดพระธรรมกายมีวัดสาขาในต่างประเทศจำนวน ๑๓ แห่ง ใน ๙ ประเทศ และมีศูนย์ถ่ายทอดเสียงการสอนปฏิบัติธรรม จากประเทศไทยผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เนต จำนวนเกือบ ๑๐๐ แห่งทั่วโลก ๒๑ และในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าอาวาสได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นราช จากพระภาวนาวิริยคุณ เป็น “พระราชภาวนาวิสุทธิ์” พอปีถัดมา(๒๕๓๙) ทางวัดได้จัดพิธีทอดกฐิน เป็นครั้งแรก พร้อมกันที่โตเกียว และไทเป เฉพาะที่โตเกียวแห่งเดียว วัดสามารถระดมสาธุชนได้ถึง ๔๐๐ คน ที่ไทเป มีคนร่วมงานราว ๕๐ คน ๒๒ ส่วนในด้านเมืองไทย วัดพระธรรมกายได้เปิดตัวโครงการมหาธรรมกายเจดีย์ มีการตอกเสาเข็ม เทฐานราก เร่งก่อสร้างให้เสร็จในปี ๒๕๔๓ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางวัดโหมระดมทุน เพื่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ โดยให้บริษัทดีเวิลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดูแลการผลิตพระมหาสิริราชธาตุ โดยผลิตออกมา ๔ รุ่นด้วยกัน กล่าวคือ รุ่นดูดทรัพย์ พระคะแนนสุดๆ พระคะแนนสุดฤทธิ์สุดเดช และพระมหาสิริราชธาตุ ตั้งเป้าไว้สำหรับพระธรรมกายประจำองค์เพลที่ ๑ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ มีตั้งแต่ราคา ๑๐,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับจะนำไปประดิษฐานบริเวณชั้นนอก ชั้นกลาง หรือชั้นในของเจดีย์ เมื่อจำหน่ายได้ตามเป้าหมาย ทางวัดจึงได้ปรับยอดการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น ๓๐๐,๐๐๐ องค์ ๗๐๐,๐๐๐ องค์ และ ๑,๐๐๐,๐๐๐ องค์ ตามลำดับ ๒๓


ท่าดีทีเหลว กระบวนการพิจารณาฝ่ายสงฆ์ และบ้านเมืองต่อกรณีธรรมกาย หรือจะเป็นไฟไหม้ฟาง

กระทั่งมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ วัดพระธรรมกายได้ออกโฆษณาชุด “ปาฏิหาริย์-อัศจรรย์ตะวันแก้ว” เพื่อระดมทุนสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ให้เสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นข่าวครึกโครมโหมสะพัดตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่ชาวพุทธ จนลุกฮือขึ้นมาร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลของวัดพระธรรมกาย เห็นได้จากโพลของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนขณะนั้น ในประเด็นคำถาม ข่าวทางพุทธศาสนาที่คาใจคนไทยมากที่สุด ปรากฏว่า ข่าววัดพระธรรมกาย ติดอันดับ ๑ คิดเป็น ๔๕.๙% ๒๔ ในจำนวน ๔ ข่าวคาว ในที่สุด คณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติตรวจสอบวัดพระธรรมกายเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑

ต่อมากรมการศาสนา ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบหนังสือของวัดพระธรรมกาย ตามคำสั่งที่ ๒๓๕/๒๕๔๑ จำนวน ๑๑๓ เล่ม มีข้อสรุปออกมา ๔ ประการด้วยกัน กล่าวคือ ๑.) การสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตา ผิดกับคำสอนในพระไตรปิฎก ๒.) เน้นอิทธิปาฏิหาริย์ หลอกคนให้เชื่อ ๓.) ทำการเรี่ยไรเงิน และ ๔.) สร้างพระพุทธรูปผิดจากพุทธศิลป์เดิม โดยอ้างว่า สร้างตามนิมิต ๒๕ หลังจากนั้น วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้พิจารณาปัญหาวัดพระธรรมกาย และมอบหมายให้พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค ๑ รับหน้าที่สอบสวน ๓ ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ เรื่องการโฆษณาวัตถุมงคล การก่อสร้างศาสนสถานใหญ่โต และการเรี่ยไรเงินทวนกระแสสังคม โดยกล่าวอ้างอิทธิปาฏิหาริย์ และให้เสนอผ่านเจ้าคณะหนใหญ่

ในช่วงนั้น กรมการศาสนา ดูจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายให้ลุล่วงไปด้วยดี มีการตั้งคณะทำงานหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึงกับโดดมากำกับ เข้าไปพบพระพรหมโมลีถึงที่วัด พร้อมกับชี้ชัดลงไปว่า การสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตาไม่ถูกต้อง ๒๖ พร้อมกับให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามมติของมหาเถรสมาคม ๔ แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ ๑.) ให้ตั้งสำนักวิปัสสนาปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาที่ถูกต้อง ๒.) ให้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม สอนให้เป็นระบบที่ถูกต้อง ๓.) เปลี่ยนคำสอนที่ว่านิพพานเป็นอัตตา และ ๔.) ให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศอย่างเคร่งครัด ๒๗

และในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานที่ปรึกษากรรมมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้นำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมมาก่อนหน้านั้น ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช พอในวันที่ ๕ มี.ค. ๔๒ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีรับสั่งให้นำเรื่องวัดพระธรรมกายเข้าพิจารณา และที่ประชุมมีมติออกมาให้เจ้าคณะภาค ๑ รับไปพิจารณา



ละเมิดพระลิขิตพระสังฆราช

ในการประชุมครั้งต่อมา มหาเถรสมาคมได้มีมติในที่ประชุมให้ดำเนินการตามแนวทางเดิม พร้อมกับมอบเอกสารข้อมูลต่างๆ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมไปศึกษาเพิ่มเติม ส่วนด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เพิ่มประเด็นการถือครองที่ดินของธัมมชโย เข้าในที่ประชุมมหาเถรสมาคม ในวันที่ ๑๙ มี.ค. ๔๒ แต่ที่ประชุมให้เลื่อนการพิจารณาออกไป โดยอ้างว่ากรรมการฯ บางรูปอ่านเอกสารไม่จบ ๒๘ ในที่สุดสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตออกมาว่า

“การโกงสมบัติผู้อื่น ตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป คือประมาณไม่ถึง ๓๐๐ บาทในปัจจุบัน ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ฐานผิดพระธรรมวินัย พ้นจากความเป็นพระทันที ในกรณีนี้ ไม่ว่าจะมีผู้รู้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการสั่งให้สึก ไม่ว่าจะมีการจับสึก หรือไม่ก็ตาม ภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้ ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ…”

ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้พิจารณาพระลิขิตฉบับนี้อย่างกว้างขวาง พร้อมกับมอบหมายให้พระพรหมโมลีดูแล ติดตามหนังสือตอบรับปฏิบัติตามของวัดพระธรรมกาย แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านี้ ในที่สุด สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิตออกมาอีกครั้ง เป็นฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๕ เม.ย. ๔๒ ว่า

“ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความเข้าใจ ความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธ-ศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก

ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ทันที”


แม้ว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิต ออกมาอีกฉบับก็ตาม ที่ประชุมมหาเถรสมาคมดู จะเฉยเมย เพียงมอบพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ให้กับเจ้าคณะภาค ๑ เท่านั้น และให้เจ้าคณะภาค ๑ รายงานเจ้าคณะหนกลางทราบ กระทั่งปลาย เดือนเมษายน ๔๒ วันที่ ๒๖ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิตออกมาเป็นฉบับที่ ๓ เพิ่มเติมจาก ฉบับก่อนว่า

“ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ ให้ ว่าในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติ ของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็น พระ ให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้ง ว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูก จัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระ ปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำ ความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ใน พระพุทธศาสนา”

หลังจากพระลิขิตฉบับนี้ออกมา มีการสร้างข่าวว่าเป็นพระลิขิตปลอม สร้างความสับสนให้แก่สังคม อีกทั้งการดำเนินการฝ่ายสงฆ์ก็ไม่มีความคืบหน้าจนสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตออกมาอีกว่า

“ในกรณีเกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย เราได้ทำหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชสมบูรณ์ตามอำนาจแล้ว จึงไม่มีอะไรจะพูดอีกขณะนี้

ขออนุโมทนาทุกท่านที่สนใจห่วงใยพระพุทธศาสนา แสดงความเป็นคนดี ด้วยมีกตัญญูกตเวทิตาธรรม”

และต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อารักขาสมเด็จพระ-สังฆราช ให้กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการศาสนา ดำเนินทุกวิถีทางเพื่อสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และให้กรมที่ดิน อำนวยความสะดวกแก่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในกรณีโอนที่ดิน ในชื่อเจ้าอาวาสเป็นของวัด และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเอง สมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตออก แจ้งให้แก่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ว่า

“ได้แจ้งให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนดีทั่วกันแล้วก่อนหน้านี้ ว่าในตำแหน่งผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ที่สุดแล้วตามอำนาจ

ท่านกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหลายจะทำอะไรต่อไปตามความต้องการ จะไม่มานั่งรับรู้รับฟังในที่ประชุมวันนี้ ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒”


พระลิขิตฉบับนี้เป็นฉบับที่สุดท้าย ที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ทำหน้าที่ของท่านในฐานะประมุขสงฆ์ ขณะที่ผองชนต่างเฝ้ารอคำพิจารณาจากที่ประชุมมหาเถรสมาคมว่า จะยุติปัญหาวัดพระธรรมกายลงได้ เมื่อมติมหาเถรสมาคมออกมาไม่ชัดเจน ต่อการดำเนินการกับวัดพระธรรมกาย จึงทำให้มหาชนที่เฝ้ารอผลพิจารณาของมหาเถรสมาคมไม่พอใจ จนพระธรรมปิฎก ได้ออกมาสัมภาษณ์ เตือนสติสังคมไทย และให้มหาเถรสมาคม แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย โดยคำนึงถึงพระธรรมวินัยเป็น

หลักหลังจากนั้นมาไม่กี่วัน ธัมมชโยได้ส่งตัวแทนนำโฉนดที่ดินจำนวน ๕ แปลง มาแสดงให้กรมการศาสนาตรวจสอบ เพื่อลดกระแสสังคมที่ร้อนแรงอยู่ในเวลานั้น แต่ก็ไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากเอกสารไม่ครบ ต่อมาตัวแทนธัมมชโยเข้าหารือกับกรมการศาสนา และกรมที่ดิน ยืนยันที่จะมอบที่ดินแก่วัดพระธรรมกายให้ครบ ภายใน ๗ วัน (๑๘–๒๕ พ.ค. ๔๒) ส่วนที่ดินแปลงอื่น ทางวัดอ้างว่าต้องปรึกษาผู้บริจาคก่อน และจะทำการโอนให้ภายใน ๓๐ พ.ค. ๔๒ พร้อมกันนั้น กรมการศาสนาได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย และคณะอนุกรรมการ อีก ๑ ชุด เพื่อพิจารณาเรื่องที่ดิน และพระธรรมวินัย ๒๙

ทางฝ่ายมหาเถรสมาคม เวลาล่วงเลยมาครึ่งค่อนปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ซ้ำยังพยายามตั้งอนุกรรมการขึ้นมา ทำหน้าที่ติดตามมติของมหาเถรสมาคม ส่วนกรมการศาสนา หลังจากตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายขึ้นมาแล้ว ได้มอบหมายให้ นายมาณพ พลไพรินทร์ ยื่นข้อกล่าวหาธัมมชโย อาบัติปาราชิก กรณีที่ดิน และบิดเบือนหลักพระธรรมคำสอน ให้มีการสอบสวนอธิกรณ์ แต่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมอ้างว่า ให้รอศาลสงฆ์พิจารณาก่อน ๓๐

ต่อมาวันที่ ๑ มิ.ย. ๔๒ ผู้แทนธัมมชโยแจ้งไม่ยอมโอนที่ดิน โดยให้เหตุผลว่า ต้องรอศาลสงฆ์ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ได้ข้อยุติก่อนจึงจะโอน จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่พอใจ มอบหมายให้กรมการศาสนาออกจดหมายถึงธัมมชโย ให้รีบโอนที่ดิน ๑,๗๔๗ ไร่ ๒ งาน ๘๗ ตาราวา ในเขตพื้นที่ ๑๕ จังหวัดคืนให้แก่วัดพระธรรมกาย ภายในวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๔๒ เมื่อถึงเวลากำหนด ธัมมชโยได้ให้ตัวแทนโอนที่ดินเพียง ๑๒ แปลง รวม ๓๐๔ ไร่ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี จันทบุรี และลพบุรี เท่านั้น จนในที่สุดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงสั่งให้ดำเนินคดีกับธัมมชโย ๓ ข้อหา คือ ๑.) แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ๒.) เป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ และ ๓.) เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ๓๑ ขณะเดียวกัน ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาอีก ๑ ชุด เพื่อติดตามกรณีที่ดินวัดพระธรรมกาย ส่วนมหาเถรสมาคมไม่ได้นำกรณีวัดพระธรรมกายมาพิจารณาในที่ประชุมในเดือนมิถุนายนแต่อย่างใด

จากการยื่นข้อกล่าวหาของนายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา ก่อนหน้านี้ ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อการพิจารณาของพระพรหมโมลีที่ว่า “ฆราวาสไม่สามารถฟ้องพระได้” กระทั่งในวันที่ ๑๕ ส.ค. ๔๒ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติออกมาอีกครั้งว่า “ฆราวาสสามารถฟ้องพระได้” และให้พระพรหมโมลี ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจนต่อที่ประชุมคราวหน้า

และต่อมาในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๒ ธัมมชโย เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนที่วัดชนะสงคราม ในคดีฉ้อโกง และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และได้รับประกันตัวไปในวงเงิน ๒ ล้านบาท ส่วนในด้านที่ประชุมมหาเถรสมาคม วันที่ ๒๓, ๒๕ ส.ค. และวันที่ ๑๔ ,๒๐ ก.ย. ๔๒ ก็ยังไม่ดำเนินการอะไรให้ก้าวไปกว่าที่แล้วมา มิหนำยังประวิงเวลา ด้วยการปรับปรุงมติของที่ประชุมบ้าง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอความเห็นบ้าง หรือมีการหยิบยกประเด็นอื่นขึ้นมาพิจารณาแทนเรื่องวัดพระธรรมกายบ้าง เป็นต้น

ส่วนภาคประชาชนขณะนั้น ได้มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ทำปัพพาชนียกรรมที่วัดสวนแก้ว รวบรวมรายชื่อถวายกำลังใจและสนับสนุนพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เล่นละครเตือนสติมหาเถรสมาคมที่วัดสระเกศ เปิดเวทีอภิปรายที่สนามหลวง ตลอดจนสัมมนาอภิปรายให้ความรู้กับประชาชน ตามวัด มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือแม้ในรัฐสภา ก็มีการจัดสัมมนา อภิปราย อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มต่างๆ ผุดขึ้นมาเคลื่อนไหว ประท้วงให้ดำเนินการกับธัมมชโยขั้นเด็ดขาด อาทิ กลุ่มธรรมาธิปไตย ชมรมพระเครื่อง กลุ่มแม่บ้านจังหวัดนครปฐม ตลอดจนคณาจารย์พิเศษ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตภาคเหนือ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ที่ออกมาแสดงจุดยืนของตน โดยลาออกจากการเป็นอาจารย์พิเศษ หากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดสวนดอก ไม่แสดงจุดยืนชัดเจนต่อเรื่องวัดพระธรรมกายในต้นเดือนตุลาคม

ส่วนด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากสอบสวนติดตามกรณีที่ดินมาระยะหนึ่ง ได้ยื่นสำนวนคดีให้อัยการสั่งฟ้องธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ๒ ข้อหาด้วยกัน กล่าวคือ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ในวันที่ ๓ ต.ค. ๔๒ แต่ธัมมชโยอ้างว่าไม่สบาย ไม่มามอบตัว อัยการจึงส่งแพทย์โรงพยาบาลตำรวจไปตรวจถึงที่วัด ปรากฏว่า อาการปกติ จึงได้นำธัมมชโยเข้ามอบตัวกับอัยการ

ต่อมาวันที่ ๑๙ ต.ค. ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้พิจารณาความเห็นของพระพรหมโมลีอีกครั้ง และมีมติออกมาว่า ฆราวาสฟ้องพระได้ และให้เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ทำหนังสือเรียกตัวธัมมชโยมารับฟังข้อกล่าวหาในวันที่ ๑๐ พ.ย. ๔๒ และอายัดบัญชีเงินฝากเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปรากฏว่า ธัมมชโยไม่ยอมมาพบ เพียงแต่ส่งตัวแทนนำหนังสือแจ้งปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่า อธิกรณ์ถึงที่สุดในวันที่ ๑๓ ส.ค. ๔๒ ที่ผ่านแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมารับฟังข้อกล่าวหาอีก พร้อมกันนั้น ธัมมชโยได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะตำบลคลองหลวง ขอลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสเพื่อพักรักษาตัว และเสนอให้พระเผด็จ ทตฺตชีโว รักษาการเจ้าอาวาสแทน แต่เจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะอำเภอคลองหลวง ไม่อนุญาตให้ลาออก เนื่องจากเห็นว่าจะทำความเสียหายแก่คณะสงฆ์ และการศึกษาของภิกษุสามเณร จึงได้ส่งหนังสือต่อไปยังเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีพิจารณา และเห็นว่า การกระทำของเจ้าคณะตำบลไม่ถูกต้อง ขัดกับกฎนิคหกรรม จึงได้ดำเนินการสั่งปลดเจ้าคณะตำบลออกจากตำแหน่ง

ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบหนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” และสอบประวัติ “ดร.เบญจ์ บาระกุล” อีกชุดหนึ่ง และในวันที่ ๑๒ พ.ย. ๔๒ เจ้าหน้าที่สอบสวนได้ยื่นฟ้องธัมมชโยต่ออัยการ อีก ๒ ข้อ คือยักยอกทรัพย์ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เกี่ยวกับการกว้านซื้อที่ดิน ๙๐๒ ไร่เศษ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นสาวกอีก ๓ คน ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เหตุการณ์วัดพระธรรมกายที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวฝ่ายต่างๆ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจบลงเมื่อไหร่ แม้จะมีวิญญูชนหลายท่าน คอยเตือนสติสำนักนี้มาอย่างแยบคาย และนมนานแล้วก็ตาม แต่ความวิปริตของเขาแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ จนมิจฉาทิฐิแสดงออกอย่างประจักษ์แจ้งแก่สาธารณชน ดังปรากฏเห็นได้ชัดในขณะนี้ และอดีตที่ผ่านมา ถึงกับละลาบละล้วงลามปามจาบจ้วงสมเด็จพระสังฆราช ฝ่าฝืนมติมหาเถรสมาคม โกหกหลอกลวงประชาชน นี้ยังไม่รวมไปถึงทำพระวินัยให้วิปริต และประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ซึ่งร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่าการจาบจ้วงสมเด็จพระสังฆราช และฝ่าฝืนมติมหาเถรสมาคม พฤติกรรมเช่นนี้ของเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาส รวมถึงบรรดาสาวกทั้งหลาย ซึ่งอ้างตนว่าดำรงอยู่ในสมณเพศ และอ้างตนว่ารักษาศีลอย่างเคร่งครัดนั้น เขาปฏิบัติกันเยี่ยงเดียรถีย์โดยไม่มีหิริโอตตัปปะกระนั้นหรือ..!

การดำรงตนอยู่ในสมณเพศนั้น นอกจากพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงวางหลักเกณฑ์ในการตัดสินธรรมและวินัย อีกว่า คำสอนไหนเป็นธรรมเป็นวินัยที่พระพุทธองค์ทรงสอน และคำสอนไหนไม่เป็นธรรมไม่เป็นวินัยที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสั่งสอน ซึ่งเราสามารถพิจารณาเทียบเคียงกันง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยจับเอาวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเป็นสำคัญ กล่าวคือ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด หมดเครื่องผูกรัดไม่พอกพูนกิเลส มักน้อย สันโดษ มีความสงัด ประกอบความเพียร และเพื่อความเลี้ยงง่าย ธรรมเหล่านั้น เป็นคำสอนของพระศาสดา สมณวิสัยของสาวกสงฆ์ และสมมติสงฆ์ในครั้งพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีวิถีปฏิบัติที่ชัดเจนเช่นนี้มาตลอด ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นพระสงฆ์นุ่งสบงทรงจีวรอย่างดี มีอาหารรสเลิศรับประทาน สะสมสมบัติพัสถาน อาคารที่ดินเป็นพันๆ ไร่ ตรงข้ามกับคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาแน่นอน ไม่ว่าจะมองในแง่ของหลักธรรมวินัย หรือมองในแง่ของการปกครองคณะสงฆ์ ก็ยิ่งห่างไกลออกไปจากความเป็นพระ แล้วจะให้ฆราวาสก้มลงกราบสนิทใจได้อย่างไร

ยิ่งในระยะหลัง ทางวัดพระธรรมกายได้ตอบโต้บุคคล และกลุ่มบุคคลที่วัดพระธรรมกายเห็นว่า เป็นศัตรูกับตน ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อมวลชนที่พากันประโคมข่าวคาวเจ้าอาวาส และมูลนิธิวัดพระธรรมกายอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ไม่พ้นที่จะถูกกล่าวหา ถ้าวัดพระธรรมกายมีสติพิจารณาให้รอบคอบ ย่อมเห็นที่มาที่ไปว่ามีควันต้องมีไฟเสมอ สื่อมวลชนก็ใช่ว่าจะกุข่าวขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีสาเหตุเอาเลย วิธีรุกเพื่อปกป้องความไม่ชอบมาพากลของตนให้พ้นผิด เข้าทำนองที่ว่าเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ผู้อื่น กล่าวหาสื่อมวลชนว่า หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ(ยกเว้น นสพ.พิมพ์ไทย)ลงข่าวเหมือนกันอย่างกับลอกกันมาและหาความจริงไม่ได้ ที่ร้ายไปกว่านั้น การสำแดงพลังด้วยการเกณฑ์พระเณรและฆราวาสที่เป็นสาวกมามากมาย รวมทั้งจัดทำเอกสารบิดเบือนข้อมูลเพื่อปกปิดความชั่วของตน จนสังคมเอือมระอานั้น เป็นการประจานตนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้ฉลาดเขาไม่ทำกัน กรณีปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องเงินๆ ทองๆ ของมูลนิธิธรรมกายและเจ้าอาวาส เสมือนวัวพันหลักที่ผูกรัดตัวเองแน่นหนา ตำรวจยิ่งสืบสาวก้าวไป ยิ่งเห็นโยงใยกันเป็นขบวนการใหญ่โต การกล่าวร้ายป้ายสีผู้อื่นว่า มีบุคคล และกลุ่มบุคคล คอยจ้องทำลายพุทธศาสนานั้น พฤติกรรมของวัดพระธรรมกายในห้วงเวลาที่ผ่านมา ย่อมเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า
ใคร..ที่เป็นมารร้ายทำลายพระพุทธศาสนา ....




เชิงอรรถ
--------------------------------------------------------------------------------

๑อ้างใน รายงานกรณีธรรมกาย ของคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร น. ๗๒
๒มติชน ๔ มี.ค. ๔๒ น. ๒๓
๓อ้างใน หนังสือ “ธรรมทายาท” เล่ม ๑ จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสตร์ ๗ สถาบัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๖ น. ๘๙
๔อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล “ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย” วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ ๕, ฉบับ ๑ ม.ค.- เม.ย. ๔๑ น. ๓๐
๕ผู้จัดการรายสัปดาห์ ๑๕ - ๒๑ ส.ค. ๒๕๓๑ น. ๑๑
๖“๑๙ สุดยอดการตลาด” น. ๓๔๔
๗อ้างใน รายงานกรณีธรรมกาย ของคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร น. ๗๓
๘อ้างแล้วในเล่มเดียวกัน น. ๖๓
๙อ้างแล้วในเล่มเดียวกัน น. ๖๓, ๖๔ และดูรายละเอียดในข้อ ๓.๑ เล่มเดียวกัน น. ๗๒, ๗๓
๑๐อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๔๙
๑๑อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๔๘
๑๒ผู้จัดการรายสัปดาห์ ๑๕ - ๒๑ ส.ค. ๓๑ น. ๑๑
๑๓อ้างในหนังสือ แฟ้มคดีธรรมกาย น. ๔๑
๑๔อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๓๔
๑๕อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๔๓
๑๖อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๓๔
๑๗อ้างใน แฟ้มคดีธรรมกาย น. ๒๑
๑๘อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๑
๑๙อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๒
๒๐อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๑
๒๑อ้างใน เจาะลึกวัดพระธรรมกาย น. ๔๕
๒๒อ้างใน อภิญญา เฟื่องฟูสกุล น. ๘๑
๒๓อ้างใน แฟ้มคดีธรรมกาย น. ๑๕๗
๒๔มติชน ๑ มี.ค. ๔๒
๒๕สรุปความเป็นมา เกี่ยวกับการดำเนินงานกรณี วัดพระธรรมกาย ของกรมการศาสนา มติชน ๗ มิ.ย. ๔๒
๒๖อ้างแล้วใน ๒๕
๒๗อ้างแล้วใน ๒๕
๒๘อ้างแล้วใน ๒๕
๒๙มติชน ๑ มี.ค. ๔๒
๓๐อ้างแล้วใน ๒๙
๓๑มติชน ๑๒ มิ.ย. ๔๒

0 Comments:

<< Home